BCP หนุน “BBGI” เป็นตัวแทนธุรกิจชีวภาพ หวังต่อยอดสู่ไบโอฮับ พร้อมดันเข้าตลาดฯปลายปี 63

BCP หนุน "BBGI" เป็นตัวแทนธุรกิจชีวภาพ หวังต่อยอดสู่ไบโอฮับ พร้อมดันเข้าตลาดฯปลายปี 63


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า การนำบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 63 เพราะต้องใช้กระบวนการในการยื่นแบบเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยังต้องดูทิศทางตลาดหุ้นควบคู่กันด้วย

โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะที่ BBGI จะเป็นตัวนำของกลุ่ม BCP ในธุรกิจชีวภาพ ซึ่งมีแผนจะต่อยอดจากการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่าง ไบโอดีเซล เอทานอล ไปสู่การเป็นไบโอฮับ หรือธุรกิจชีวภาพด้านอื่น โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วยสนับสนุน เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปแผนการเป็นไบโอฮับได้ใน 1-2 ปี

อย่างไรก็ดี บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ตั้งไบโอฮับจากเดิมที่มองไว้ที่จ.ฉะเชิงเทรา ก็อาจจะเปลี่ยนไปในพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบอย่างอ้อย หรือมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล เพื่อรองรับการต่อยอดผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับไบโอชีวภาพ โดยคาดว่าจะสรุปการจัดหาพื้นที่ได้ใน 1-2 เดือน ซึ่งพื้นที่ตั้งไบโอฮับจะมีการจัดตั้งโรงงานไบโอชีวภาพในส่วนนี้จะรวมถึงการนำเอาเทคโนโลยี Synthetic Biology หรือ SynBio เข้ามาใช้กระบวนการผลิต ซึ่งปัจจุบันหารือกับแล็ปหลายแห่งในต่างประเทศก่อนจะสรุปเพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมองความเป็นไปได้ใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร วัสดุชีวภาพ และเครื่องสำอาง ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนใน 1-2 ปีนี้

ทั้งนี้ SynBio เป็นการนำนวัตกรรมมาสร้างสิ่งมีชีวิต (Living Organisms) ด้วยฝีมือของมนุษย์ ไม่ใช่การเกิดโดยธรรมชาติ ผสานความรู้ทวงด้านชีววิทยา เทคโนโลยี และวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อลดการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ ลดขั้นตอนในกระบวนการผลิต ลดการปล่อยของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุน

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานไบโอชีวภาพอาจจะมีหลายพื้นที่ ซึ่งนอกเหนือจากการหาสถานที่ตั้งไบโอฮับดังกล่าวแล้ว บางจากฯยังมองการต่อยอดผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอชีวภาพในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ที่ปัจจุบันกลุ่มบางจากฯมีโรงงานเอทานอลตั้งอยู่แล้วด้วย เพราะการลงทุนลักษณะดังกล่าวมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สามารถกระจายได้หลายพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าการดำเนินงานธุรกิจชีวภาพจะใช้เงินลงทุนในระดับหลักพันล้านบาทใน 3-5 ปีข้างหน้า

สำหรับการสัมมนา”SynBio Forum 2019:ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก” ที่จัดโดยบางจากฯในวันนี้ เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพโลก สอดคล้องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model โดย B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

โดยการพัฒนาเทคโนโลยี SynBio นับเป็น Disruptive Technology ที่จะสามารถตอบโจทย์วิกฤติทรัพยากรโลกที่มีอยู่จำกัด ไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการของประชากรโลกที่คาดว่าจะมีมากถึง 9,700 ล้านคนในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีราว 7,000 ล้านคน ซึ่งจะพลิกโฉมหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ ฯลฯ

สำหรับในต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ SynBio อื่นๆ ที่ได้ออกสู่ท้องตลาด เช่น เนื้อวัวเทียมที่ผลิตจากพืชของ Impossible Burger และ Beyond Burger สตาร์ทอัพจากอเมริกา หรือเส้นใยแมงมุมสังเคราะห์จากโปรตีน ผ่านกระบวนการผลิตด้วย SynBio เกิดเป็นเส้นใยที่ทนทานที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา รวมถึงยารักษาโรคมะเร็งออกฤทธิ์ตรงกับเซลล์มะเร็งและไม่ทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกาย เป็นต้น

ด้านนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นวัตกรรม SynBio สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย”ว่า รัฐบาลวางเป้าหมายจะยกระดับ BCG ขึ้นไปเป็นเหมือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนคู่ขนานกันไป เบื้องต้นประเมินว่ามูลค่าเศรษฐกิจ BCG จะเพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2565

ทั้งนี้ จะเป็นการสร้างมูลค่าผ่าน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เกษตรและอาหาร ,พลังงานและวัสดุ , สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยวและบริการ

โดนกลุ่มเกษตรและอาหาร มีกลุ่มพืชหลัก 5 ประเภท คือ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ปาล์ม และอ้อย ที่จะนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมให้เกิด SynBio เพื่อเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำคัญเรื่องอาหารที่เป็นแนวโน้มของโลก โดยวางเป้าหมายทั้งในระยะสั้น 1-3 ปี ระยะกลาง 3-5 ปี และระยะยาว 5-10 ปี โดยระยะสั้น-กลางจะมีพืชผลปลอดภัย ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ได้มาตรฐาน โปรตีนชนิดใหม่จากพืชและสัตว์ อาหารเสริมสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น

ในส่วนกลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ มีเป้าหมายระยะสั้น-กลาง ที่จะมีพลังงานชีวภาพจากวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตรและของเสียจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม ,เชื้อเพลิงคุณภาพสูง ได้แก่ ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล ไบโอพลาสติกและคอมพาวน์ที่สลายตัวได้โดยธรรมชาติ ไบโอแมส เพาเวอร์ ขนาดเล็ก เป็นต้น

Back to top button