IRPC คาดกำไรสุทธิ Q2/58 ดีกว่า Q1/58 วางเป้าเพิ่มสินค้า high value
IRPC คาดกำไรสุทธิ Q2/58 ดีกว่า Q1/58 วางเป้าเพิ่มสินค้า high value
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/58 จะออกมาดีกว่าไตรมาส 1/58 ที่มีกำไรสุทธิ 3.83 พันล้านบาท เนื่องจากกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน(stock gain)และยังได้รับเงินชดเชยจากการเคลมประกันหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา(VGOHT)ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้กลางปีก่อนอีกกว่า 400 ล้านบาทด้วย
แต่กำไรในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะอ่อนกว่าครึ่งปีแรก จาก GIM ที่ลดลงหลังทำได้ดีมากในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินค้ามูลค่าเพิ่มที่เป็นเกรดพิเศษ (specialty) เป็น 60% ในปี 63 จาก 35% ในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนมาร์จิ้นในอนาคตให้ปรับสูงขึ้น
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีในช่วงครึ่งหลังปีนี้ GIM มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากมาร์จิ้นของโรงกลั่นจะอ่อนตัวลง โดยเฉพาะไตรมาส 3/58 ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้กิจกรรมที่มีความต้องการใช้น้ำมันมีไม่มาก แม้ความต้องการจะกลับมาในช่วงไตรมาส 4/58 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว แต่คงไม่สามารถชดเชยได้ เพราะครึ่งปีแรกมาร์จิ้นธุรกิจกลั่นสูงมากกว่าปกติ ตามความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 2/58 ประกอบกับมีโรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุงจำนวนมาก
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ในช่วงไตรมาส 3/58 ยังอยู่ในภาวะที่ดี แต่คงไม่ดีกว่าในไตรมาส 2/58 ขณะที่สายอะโรเมติกส์ทรงตัว เพราะยังมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ระบบต่อเนื่อง แต่ IRPC มีผลิตภัณฑ์จากสายอะโรเมติกส์ไม่มาก ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม การที่ยังมีกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ใหม่เข้าสู่ตลาดมาก และภาวะเศรษฐกิจจีนที่อาจจะชะลอตัวลง ทำให้การศึกษาโครงการผลิตพาราไซลีน(PX) ที่ร่วมกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) อาจยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้
นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทในขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ หลังโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์(UHV) จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ก็จะยังคงเหลือเพียงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน(PP) อีก 3 แสนตัน/ปี โดยเป็นการขยายกำลังการผลิต PP จากโรงงานเดิมอีก 1.6 แสนตัน/ปี และการผลิต PP Compound(PPC) 1.4 แสนตัน/ปี ซึ่งใช้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้มี PP เพิ่มเป็น 7.75 แสนตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4.75 แสนตัน/ปี โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 60
ขณะที่บริษัทมุ่งที่จะหันมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเกรดพิเศษ(specialty)ในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้นกว่าสินค้าปกติ(commodity)โดยบริษัทวางเป้าหมายจะผลิตสินค้าเกรดพิเศษเพิ่มขึ้นปีละ 5% ซึ่งการผลิต PPC ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้การผลิตสินค้า specialty มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 63 จากระดับ 35% ในขณะนี้ ขณะที่สินค้าเกรดพิเศษมีมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าปกติราว 10%
นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนจะเพิ่มสินค้าเกรดพิเศษ สำหรับผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ABS โดยมีเป้าหมายจะขายสินค้าดังกล่าวเป็นอีกเท่าตัวภายใน 5 ปี รวมถึงการมุ่งเจาะตลาดโพลียูริเทนภายใน 5 ปี หลังจากที่ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท PCC Rokita SA ประเทศโปแลนด์ เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลียูริเทน โดยเน้นตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประเทศจีนเป็นหลัก
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งไทยและอินโดนีเซียนับว่าเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียยังมีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์อยู่จำนวนมาก ก็เป็นโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่จะส่งสินค้าออกไปอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้เห็นว่าตลาดพลาสติกในกลุ่มยานยนต์ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต