สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 22 ก.ค.58
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 123.70/72 จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 123.70 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0931/0933 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.0930 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,447.84 จุด เพิ่มขึ้น 0.40 จุด หรือ 0.03% มูลค่าการซื้อขาย 39,970.26 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,297.74 ล้านบาท (SET+MAI)
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ครั้งใหญ่ว่า การจะปรับ ครม.หรือไม่ ยึดหลักประสิทธิภาพการปฏิบัติงานสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ก็ติดตามการทำงานของ ครม.ทุกสัปดาห์ และพร้อมจะปรับ หากเห็นว่าไม่ทำงานตามคำสั่ง หรือทำงานแต่ไม่มีประสิทธิภาพ
– นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เมินกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ยันไม่ได้รู้สึกตกใจ และยังทำงานเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเศรษฐกิจขณะนี้ยังมีปัญหา โดยเฉพาะจากภาคส่งออก
– นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการสัมมนา”เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน”ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปขยายตัวได้ถึง 4% ต่อปีหลังจากนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจบิดเบี้ยวมานาน โดยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 77% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จากปี 40 ที่มีสัดส่วนเพียง 40% ของจีดีพี ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยอ่อนไหวมากเมื่อเศรษฐกิจโลกเปราะบาง แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้ เพราะมีสัดส่วนแค่ 10% ของจีดีพีเท่านั้น
– น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิจัยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวในการสัมมนา”เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างไร”ว่า ขณะนี้ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 5 ส.ค.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งจากระดับ 1.50% โดยตลาดส่วนใหญ่ตีความจาการรับรู้ข่าวสารในช่วงที่ผ่านมาว่าประเทศไทยต้องการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเพิ่มขึ้น
– ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี คาดว่าการส่งออกจะกลับมาในไตรมาส 4/58 นี้ตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไปน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย.58 ซึ่งเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงจะต้องใช้เวลาราว 3-4 เดือนในการเสนอคำสั่งซื้อมาในราคาที่ถูกลง
– นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3% ในขณะที่การส่งออกอาจจะติดลบราว 2% ซึ่งได้รวมผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งไว้แล้ว แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศมีความรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็อาจจะต้องปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงไปอีก ซึ่ง ส.อ.ท.จะประเมินภาพรวมอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้
– นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเมินว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้จะติดลบ 1.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาฐานราก จากการไม่พัฒนาและยกระดับนวัตกรรมการผลิต ส่งผลให้สินค้าของไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่จะขยายตัวขึ้น
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 สถานการณ์รายได้ของเกษตรกรยังคงน่าเป็นห่วง หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในวงกว้างขึ้น ก็อาจยิ่งเป็นแรงฉุดจีดีพีภาคเกษตรของไทยในปีนี้ให้อาจลดลงถึงร้อยละ 4.3 (YoY) ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรต่อจีดีพีภาคเกษตรของไทยขยับขึ้นไปอยู่ที่ราวร้อยละ 85.2 (YoY)
– รัฐสภากรีซเปิดฉากการประชุมเพื่อถกมาตรการปฏิรูปธนาคารและกระบวนการยุติธรรมแล้วในวันนี้ ตามข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส ได้ทำไว้กับกลุ่มเจ้าหนี้
– สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือกรีซขึ้น 2 ขั้น สู่ระดับ CCC+ จากระดับ CCC- เนื่องจากปัญหาหนี้สินของกรีซเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี รวมถึงการที่กลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป ได้ตกลงที่จะให้จัดสรรเงินกู้ระยะ 3 ปีจากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ให้แก่กรีซ
– นายปา ซูซ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำสมาคมการธนาคารจีนและตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มจะมีการขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 6-6.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
– ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีนโดย ANZ Bank-Roy Morgan ลดลง 2.5% สู่ระดับ 141.0 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการรายงานดัชนีเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนม.ค. 2557
– นายเกลน สตีเวนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียยอมรับว่า ยังมีโอกาสที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ในขณะที่ดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนค่าลงนั้น ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์