APP ตั้ง “Co-Underwrite”-เคาะราคาไอพีโอ 2.46 บ. จองซื้อ 15,18-19 พ.ย. ลุยเทรด 22 พ.ย.นี้

APP ตั้ง "Co-Underwrite"-เคาะราคาไอพีโอ 2.46 บ. จองซื้อ 15,18-19 พ.ย. ลุยเทรด 22 พ.ย.นี้


นายสมภพ  กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)  จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคา 2.46 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายให้แก่ประชาชนจำนวน 72 ล้านหุ้น เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยจำนวน 8 ล้านหุ้น ซึ่งหุ้นทั้งสองส่วนจะเสนอขายในราคาเดียวกัน โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่  15 และ 18-19 พฤศจิกายน 2562 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ  (mai) หมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า  “APP”

สำหรับการเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายโดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 5  แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

ราคาไอพีโอที่หุ้นละ 2.46 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) 10.44 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้น จากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่ไตรมาส 4/2561  ถึง ไตรมาส 3/2562)  ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีความน่าสนใจอย่างมาก ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจกว่า 25 ปี และศักยภาพการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ 3 มิติ และให้บริการอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน  รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์ Solidworks ซอฟต์แวร์ ArchiCAD เครื่องพิมพ์ 3มิติ Stratasys และเครื่องสแกน 3มิติ GOM 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มีรายได้จากบริการ Subscription Service คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของรายได้รวม ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ (Recurring Income)  และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากในส่วนของยอดขายซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้น และลูกค้าเดิมที่ต่ออายุสัญญาบริการ Subscription ซึ่งปกติแล้วการที่ลูกค้าเลือกใช้ซอฟต์แวร์ใดแล้ว การเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์อื่นจะเป็นไปได้ยากมาก ส่งผลให้จำนวนสัญญา Subscription Service  ที่บริษัทฯ ให้บริการในปี 2559-งวด 9 เดือนแรกปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,560 สัญญา เป็น 3,101 สัญญา คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นจาก 156 ล้านเป็น 187 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 10% ผมจึงมั่นใจว่า APP จะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี” นายสมภพ กล่าว

ด้าน นายประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) หรือ APP เปิดเผยถึง แผนการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับบริษัทฯ โดยเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ  196.80 ล้านบาท นำไปใช้เพื่อลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการสาธิตการใช้งานให้แก่ลูกค้า 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

สำหรับกลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ APP มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในด้านการให้คำปรึกษาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านการออกแบบและผลิต รวมถึงการก่อสร้างในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการตื่นตัวการเข้าสู่ยุคดิจิตอลของทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

รวมทั้งกระแสของ Digital Transformation จะยิ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ อย่างมากในอนาคต และนอกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วบริษัทฯ ยังมีบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียที่จดทะเบียนในชื่อ  PT. Indonesia AppliCAD ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มบริษัทฯ มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการสรรหาซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ รวมถึงโอกาสในการเติบโตไปในระดับภูมิภาคซึ่งถือเป็นเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัท

สำหรับผลประกอบการล่าสุดงวดประจำ 9 เดือนแรกปี 2562  กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 569.30 ล้านบาท กำไรขั้นต้นรวมจำนวน 263.98 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ  46.89% และมีส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 49.59 ล้านบาท คิดเป็นอัตราอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 8.71%

โดยสัดส่วนรายได้หลักของกลุ่มบริษัทจากการขายและบริการ ในงวด 9 เดือนแรก ปี 2562 มีรายได้จากการขายสัดส่วน 61.46% แบ่งเป็น ธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบ 37.39% และผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ 24.07% ขณะที่รายได้จากการบริการมีสัดส่วน 37.43% และรายได้อื่นๆ 1.11% ของรายได้รวม ทั้งนี้ จากการที่รายได้หลักของกลุ่มบริษัทฯ มาจากการจำหน่ายซอฟต์แวร์ SolidWorks ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ผู้ผลิตกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (IMM) กลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

Back to top button