WHAUP เดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ “CCE” คาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไร 80 ลบ./ปี

WHAUP เดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ “CCE” คาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไร 80 ลบ./ปี


บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ CCE เปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 8.63 เมกะวัตต์ (MW) ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.62 ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 31 ธ.ค.62 โดยจำหน่ายเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 6.90 เมกะวัตต์ ภายใต้ข้อตกลง PPA เป็นระยะเวลา 20 ปี

โดย CCE เป็นบริษัทร่วมทุนของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP กับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW บริษัทในเครือของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ Suez Recycling & Recovery Asia ถือหุ้นในสัดส่วน 33.33% เท่ากันทุกฝ่าย เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 ด้วยเงินลงทุนราว 1,800 ล้านบาท

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และประธานคณะกรรมการ CCE กล่าวว่า โรงไฟฟ้า CCE เป็นโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยุโรป ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน การมีเสถียรภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงได้กว่า 400 ตันต่อวัน หรือราว 100,000 ตันต่อปี โดย CCE ได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาขยะอุตสาหกรรมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (WMS) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการจัดเก็บ บำบัด และกำจัดขยะของเสียในไทย เพื่อดำเนินการจัดหาขยะอุตสาหกรรม 100,000 ตันต่อปี จากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง โดยนำขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า บริษัทมองโอกาสทางธุรกิจการนำโมเดลของ WHA ที่ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โลจิสติกส์, ระบบฐานข้อมูลดิจิทัล, นิคมอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค-พลังงาน ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยจะเริ่มจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน

ด้านนายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการเงิน WHAUP กล่าวว่าว่า บริษัทคาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม CCE ตามสัดส่วนการถือหุ้น 33.33% เข้ามาปีละประมาณ 80 ล้านบาท

พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป เบื้องต้นรูปแบบของการลงทุนจะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนกันพันธมิตร ซึ่งบริษัทมีนโยบายถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 35% หรือการเข้าซื้อกิจการ (M&A)

ปัจจุบัน WHAUP มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือตามสัดส่วนการร่วมทุนประมาณ 550 เมกะวัตต์

ส่วนธุรกิจให้บริการน้ำของ WHAUP ในปี 63 คาดว่าจะมีปริมาณจำหน่ายน้ำให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม และปริมาณจำหน่ายน้ำประปาเพื่อการบริโภคทั้งในไทยและเวียดนามรวมทั้งสิ้น 150 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่คาดจะอยู่ที่  120 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณที่เพิ่มขึ้นจะมาจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและน้ำประปาที่ให้บริการในเวียดนาม เป็นผลจากที่บริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท Duong River Surface Water Plant JSC (SDWTP) ในสัดส่วน 34% ซึ่งมีปริมาณจ่ายน้ำอยู่ที่ 3 แสน ลบ.ม./วัน

นายณัฐพรรษ กล่าวว่า บริษัทมีแผนงานในอนาคตที่จะทยอยเพิ่มกำลังผลิตของธุรกิจให้บริการน้ำในเวียดนามเป็น 6 แสน ลบ.ม./วัน เพื่อรองรับความต้องการที่เติบโตชึ้น อีกทั้งมีแผนจะใส่เงินเพิ่มทุนหากมีการขยายการลงทุน โดยคาดว่ามีโอกาสจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้มากกว่าเดิม

โดยในปี 63 WHAUP จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในเวียดนามตามสัดส่วนการถือหุ้น 34% ราวปีละ 300 ล้านบาท ภายใต้ปริมาณผลิตและจำหน่ายน้ำประปาอยู่ 3 แสน ลบ.ม./วัน ขณะเดียวกันมีโอกาสที่จะขยายไปยังโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีก เบื้องต้นคาดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำในอีก 1-2 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 50% จากเดิมอยู่ที่ 45%

เบื้องต้นในปี 63 บริษัทได้เตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนปรับปรุงในโรงไฟฟ้าและธุรกิจสาธารณูปโภค

นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานของ WHA ปีนี้ยังคงเป้าหมายรายได้เติบโต 70% และการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทไว้ที่ 1,600 ไร่ โดยในช่วงที่เหลือของปีจะมีการเซ็นสัญญากับลูกค้าที่เข้ามาซื้อที่ดินอย่างต่อเนื่อง หรือประมาณหลักแสนตารางเมตร ซึ่งหากส่งมอบที่ดินไม่ทันภายในปีนี้ก็จะเลื่อนการรับรู้รายได้ไปเป็นปี 63 แทน

ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 63 บริษัทจะสามารถเปิดเผยได้ในช่วงเดือน ม.ค.63 ซึ่งเบื้องต้นมองว่าธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ จากกระแสการเติบโตของการลงทุนที่มีอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเห็นความชัดเจนขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะแพ็คเกจ”ไทยแลนด์ พลัส”ที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนอย่างเร่งด่วน

Back to top button