ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯวงเงิน 1 พันลบ. “ANAN” ที่ “BB/Positive”

ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯวงเงิน 1 พันลบ. “ANAN" ที่ "BB/Positive"


ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกัน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ที่ระดับ “BB” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” โดยแนวโน้มยังคง “Positive” หรือ “บวก”

หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ 2 ระดับ ทั้งนี้ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ได้ โดยผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวจะได้รับชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในลำดับต่ำกว่าผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและเจ้าหนี้สามัญอื่น ๆ ของบริษัท หากบริษัทเลื่อนการชำระดอกเบี้ยแล้ว บริษัทจะไม่มีสิทธิจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท

จากข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ทริสเรทติ้งกำหนดให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของ ANAN มีระดับความเป็นทุนปานกลาง(Intermediate Equity Content) ดังนั้น ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งจะจัดให้ 50% ของเงินต้นคงค้างของหุ้นกู้เป็นทุน และอีก 50% เป็นเงินกู้

สำหรับระดับความเป็นทุนปานกลางนี้จะถูกลดให้มีระดับความเป็นทุนน้อย (0%, Minimal Equity Content) ในวันครบกำหนด 5 ปีนับจากวันออกหุ้นกู้ เนื่องจากอายุคงเหลือจริง (Remaining Effective Maturity) ณ วันดังกล่าวน้อยกว่า 20 ปี ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้ง อายุคงเหลือจริงของตราสารจะลดลงเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (Step Up Interest) เพิ่มขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 100 Basic Points ซึ่งในกรณีของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนี้ กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด 25 ปีนับจากวันออก

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าฐานรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามการคาดการณ์ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (รวมเงินกู้จากกิจการร่วมค้าตามสัดส่วน) ให้ต่ำกว่า 66% หรือเทียบเท่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่าเอาไว้ได้

ในทางตรงข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญทั้งจากการขยายธุรกิจในเชิงรุกหรือจากการมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาดไว้

บริษัทมีสิทธิที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวได้ภายหลังจากสิ้นปีที่ 5 นับจากวันออกหุ้นกู้ หรือขึ้นอยู่กับเหตุแห่งการไถ่ถอนหุ้นกู้ต่าง ๆ นอกเหนือจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุในข้อกำหนดสิทธิฯ ของหุ้นกู้ เช่น การเปลี่ยนแปลงในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล การเปลี่ยนแปลงในหลักการบัญชี หรือการเปลี่ยนแปลงในหลักเกณฑ์การพิจาณาความเป็นทุนของหุ้นกู้ บริษัทมีความประสงค์ที่จะชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนหรือซื้อคืนด้วยตราสารทุนที่เท่าเทียมกันหรือดีกว่า

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ ANAN สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดคอนโดมิเนียมซึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าและผลงานที่ได้รับการยอมรับในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทเน้นการพัฒนาเฉพาะธุรกิจคอนโดมิเนียมและจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง ตลอดจนความกังวลในการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ANAN ประกอบธุรกิจพัฒนาและขายโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดมิเนียมซึ่งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ บริษัทก่อตั้งในปี 2542 โดยตระกูลเรืองกฤตยา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2555 ณ เดือนเมษายน 2558 นายชานนท์ เรืองกฤตยาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 50.1% ของหุ้นทั้งหมด

ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา 28 โครงการ ประกอบด้วย คอนโดมิเนียม 16 โครงการ และบ้านจัดสรร 12 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายประมาณ 18,000 ล้านบาท บริษัทพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 4 โครงการในลักษณะของการร่วมทุนกับ SEA Investment Five Pte. Ltd. (SEAI5) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Mitsui Fudosan Group

บริษัทมียอดขายที่รอการรับรู้รายได้ (Backlog) สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2558 ถึงปี 2560 จำนวน 35,000 ล้านบาท (รวมยอดขายที่รอรับรู้รายได้มูลค่า 22,000 ล้านบาทจากโครงการที่พัฒนาภายใต้กิจการร่วมค้า) ยอดขายของบริษัทอยู่ในระดับสูงสุดที่ 20,361 ล้านบาทในปี 2556 และลดลง 15% เป็น 17,311 ล้านบาทในปี 2557 ยอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 8,315 ล้านบาท

รายได้ของบริษัทในปี 2557 เพิ่มขึ้น 13% เป็น 10,328 ล้านบาท รายได้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 1,331 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนส่งมอบยอดขายที่รอรับรู้รายได้มูลค่า 6,000 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2558 ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดย 70% ของรายได้จะมาจากโครงการคอนโดมิเนียม และอีก 20% มาจากโครงการบ้านจัดสรร

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 16% ในช่วงปี 2555 ถึง 2556 และเป็น 19% ในปี 2557 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากอัตรากำไรที่เพิ่มมากขึ้นของโครงการคอนโดมิเนียมและผลกระทบที่ลดลงจากการซื้อ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (AD2) ด้วยมูลค่ายุติธรรมที่สูง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงเหลือ 13% ในไตรมาสแรกของปี 2558 เนื่องจากการรับรู้รายได้ที่ลดลงในไตรมาสนี้

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ที่ประมาณ 15% เอาไว้ได้

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท (รวมเงินกู้จากกิจการร่วมค้าตามสัดส่วน) อยู่ที่ 55% ณ เดือนธันวาคม 2557 และ 60% ณ เดือนมีนาคม 2558 ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะปรับสูงขึ้นจากแผนการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโต อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนไม่ควรสูงเกินกว่า 66% หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนควรอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า

บริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่ยอมรับได้ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 2,395 ล้านบาทและ 4,000 ล้านบาทของบริษัทจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ ณ เดือนมีนาคม 2558 สภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดมูลค่า 1,900 ล้านบาท รวมทั้งวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้มูลค่า 4,700 ล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อปี

Back to top button