“ไทย-ฮ่องกง” ลงนาม 6 ข้อตกลงร่วมมือการค้า-การลงทุน พร้อมปูทางสู่ FTA
"ไทย-ฮ่องกง" ลงนาม 6 ข้อตกลงร่วมมือการค้า-การลงทุน พร้อมปูทางสู่ FTA
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(29 พ.ย.62) มีการประชุมหารือระดับสูงระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงเรื่องความร่วมมือทางการค้า-การลงทุนไทย-ฮ่องกง
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายสมคิด รองนายกฯ ได้เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้เป็นการดำเนินการของทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่สดใสท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยตนเองและนางแคร์รี หล่ำ ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและวางแนวทางความร่วมมือระหว่างกันสำหรับหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ของการประชุมจะมีความคืบหน้าได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องเร่งรัดการทำงานร่วมกันและเก็บเกี่ยวโอกาสและผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายได้วางแนวทางได้ในวันนี้ เพื่อความก้าวไกล ก้าวหน้าและยั่งยืนของไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมทั้งอนุภูมิภาคและภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ นายสมคิด และนางแคร์รี หล่ำ ร่วมลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ฮ่องกง และเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงต่างๆ อีก 5 ฉบับ ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในระยะต่อไปด้วย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าไว้เมื่อปี 60 พร้อมทั้งเริ่มหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ฮ่องกง และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
- ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนการเยือนและการร่วมกิจกรรมระหว่างกัน โดยมุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย รวมถึงส่งเสริมการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการโยกย้ายฐานการผลิตของวิสาหกิจฮ่องกงมายังไทย
- ด้านการเงิน สองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนของกันและกัน ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดใหม่ๆ เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ผ่านระบบ Depositary Receipt(DR) การทำ cross listing ระหว่างกันในหลักทรัพย์ตัวสำคัญ ตลอดจนการทำ mutual recognition of funds และการส่งเสริมให้มีการลงทุนใน Real Estate Investment Trusts (REITS) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังจะร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการตลาด โดยเฉพาะการทำ requlatory mapping ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินใหม่ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยความที่คนไทยและฮ่องกงต่างมี “พลังแห่งความสร้างสรรค์” (creative power) อยู่มาก อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ ทั้งสองฝ่ายจึงจะร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างให้มีการใช้พลังนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีมาตรการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของผู้ประกอบการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนให้ต่างฝ่ายต่างเข้าร่วมกิจกรรมของกันและกัน ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานร่วมกันต่อไป
- ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มตัน(Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับทราบถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand และแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม การบ่มเพาะ Start-up ที่มีศักยภาพ และการมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น
- ไทยและฮ่องกงเห็นพ้องให้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในด้านอาชีวศึกษาและการยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือ STEM นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนปี ภายในปี 64 ด้วย
“ผมเชื่อมั่นว่า การเยือนไทยของท่านแคร์รี หล่ำ ครั้งนี้ และความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ข้างต้น จะช่วยสานต่อเจตนารมณ์ร่วมของทั้งสองฝ่ายในการเป็น “ประตู” สู่อาเซียนของไทย และการเป็น “ประตู” สู่จีนของฮ่องกง ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮ่องกงให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงสร้างโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจให้ไทย ฮ่องกง และภูมิภาค” นายสมคิด กล่าว