SFLEX เคาะราคาไอพีโอ 3.88 บ./หุ้น เปิดจอง 11-13 ธ.ค.นี้ ลุยเทรด 19 ธ.ค.62
SFLEX เคาะราคาไอพีโอ 3.88 บ./หุ้น เปิดจอง 11-13 ธ.ค.นี้ ลุยเทรด 19 ธ.ค.62
บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 3.88 บาท/หุ้น พร้อมเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค. และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 19 ธ.ค.62
โดย SFLEX เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) สำหรับสินค้าอุปโภคและสินค้าบริโภค ตามคำสั่งของลูกค้า (Made to Order) มีแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 110 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.83% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ IPO ของ SFLEX เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 110 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น ในราคา 3.88 บาท/หุ้น
โดยจะเสนอขายให้แก่ประชาชนจำนวน 99 ล้านหุ้น คิดเป็น 24.15% และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จำนวน 11 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.68% ซึ่งหุ้นทั้งสองส่วนจะเสนอขายในราคาเดียวกัน โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค. 62 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายใน SET หมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในวันที่ 19 ธ.ค. 62
สำหรับราคา IPO ที่ 3.88 บาท/หุ้น ที่ P/E ระดับ 24.5 เท่า โดยใช้ผลการดำเนินงาน 4 ไตรมาสย้อนหลัง ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และสอดคล้องกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน โดย SFLEX ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนชั้นนำในประเทศ มีลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด, บริษัท นีโอแฟคทอรี่ จำกัด, บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไอ.พี. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นต้น
ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำเหล่านี้มีกระบวนการในการคัดเลือกผู้จัดจำหน่าย (Supplier) ที่มีมาตรฐานสูง การที่บริษัทสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าดังกล่าวได้จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทอย่างมาก รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของสินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าระดับสากล
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ยอดขายที่ผ่านมาของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง และบริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งในส่วนของบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค และขยายตลาดไปยังกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคมากขึ้น
โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนยอดขายจากบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 15.23% ในปี 61 เป็น 20.18% ในงวด 9 เดือนแรกปี 62 ทำให้มั่นใจว่าหุ้นของ SFLEX จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
นายปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร SFLEX เปิดเผยว่า แผนการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับบริษัท โดยเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนทั้งสิ้นจำนวน 426.80 ล้านบาท ไปใช้ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฟิล์มประเภทที่ใช้ในการปิดผนึกขึ้นรูป (Sealant) ราว 140 ล้านบาท และจะนำเงินไปลงทุนสร้างคลังสินค้า 50 ล้านบาท รวมถึงนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 95 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.6 เท่า จากปัจจุบันที่ 1.5 เท่า และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ
สำหรับกลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้บริษัทฯ มีเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้าในระยะยาว พร้อมกับการซื้อขายสินค้าระหว่างกันแล้ว บริษัทฯ ยังร่วมกับลูกค้าในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์ทางการตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) โดยการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด Flexible Packaging ที่หันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิล และการใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาวัตถุดิบให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าวไว้แล้ว
“มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เพราะบริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรม Packaging มากกว่า 30 ปี และเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 หรือ 2 ของประเทศที่มี Market Share 4.5% ของมูลค่าตลาด Packaging เกรด A และ B+ ที่มูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้บริษัทใความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน”นายปรินทร์ธรณ์ กล่าว
ขณะที่ผลประกอบการในปี 59-61 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,181.01 ล้านบาท 1,353.33 ล้านบาท 1,374.25 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 33.29 ล้านบาท 146.63 ล้านบาท 136.11 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 943.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจำนวน 46.42 ล้านบาท