กทม. ปิดเยาวราช-สีลม-ข้าวสาร จัดถนนคนเดินกระตุ้น ศก. ส่งเสริมการท่องเที่ยว

กทม. ปิดเยาวราช-สีลม-ข้าวสาร จัดถนนคนเดินกระตุ้น ศก. ส่งเสริมการท่องเที่ยว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(9ธ.ค.62) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงรายละเอียดและความคืบหน้าการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน(Walking Street) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนผู้ค้า Street Food ที่เป็นหนึ่งในจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมจะเริ่มจากถนนเยาวราช, สีลม และข้าวสาร นอกจากนั้นยังรวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดย ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมถนนคนเดิน(Walking Street) ของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีพื้นที่ค้าขาย และช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาประหยัด รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุน Street Food ที่เป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มดำเนินการครั้งแรกในสัปดาห์นี้ 3 ถนน ได้แก่

  1. ถนนเยาวราช จะมีการปิดถนนเพื่อจัดกิจกรรมถนนคนเดิน(Walking Street) ตั้งแต่วันที่ 13 -14 ธ.ค.62 โดยเริ่มปิดถนนฝั่งละ 1 ช่องจราจร เพื่อให้คนเดิน ในเวลา 17.00 – 24.00 น. ตั้งแต่แยกราชวงศ์ ถึงแยกเฉลิมบุรี และซอยแปลงนามตลอดทั้งซอย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ที่เดินทางมาท่องเที่ยวเยาวราชทางสถานีวัดมังกร สำหรับวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค.62 จะมีการปิดถนนทั้งหมดให้คนเดินตั้งแต่ 19.00 – 24.00 น. และจะมีการเพิ่มร้านค้าอีก 40 ร้าน ซึ่งจะพิจารณาจากผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทางเท้าก่อน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเยี่ยมทักทายประชาชนบริเวณ ถ.เยาวราชในเวลาประมาณ 19.00 น.
  2. ถนนสีลม กำหนดจัดกิจกรรมถนนคนเดิน(Walking Street) ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค.62 โดยเริ่มปิดถนนให้คนเดินในเวลา 12.00 – 22.00 น. และเปิดให้สัญจรตามปกติในเวลา 24.00 น. ภายใต้ชื่องาน “เดิน กิน ชิม เที่ยว Walking Street@สีลม” โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1. ถนนสายศิลป์ จัดแสดงงานศิลปะ ดนตรี การแสดง Street Show การขับร้องประสานเสียง การแสดงศิลปะ Graffiti โซนที่ 2. ถนนต้องชิม จัดร้านอาหาร Street Food ที่มีชื่อเสียง ร้านอาหารโบราณที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ร้านอาหารที่หาทานยาก โซนที่ 3. ถนนต้องชม จัดจำหน่ายสินค้าที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ สินค้าจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้า OTOP โซนที่ 4. ถนนวัยเก๋า จัดแสดงดนตรี ศิลปะวัฒนธรรม สินค้าและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ผ่อนคลาย สังสรรค์ โซนที่ 5. ถนนต้องเดิน จัดจำหน่ายของดีของเด่นจาก 50 เขตที่มีอัตลักษณ์ของ กรุงเทพมหานคร และ Bangkok Brands และโซนที่ 6. ถนนคนกรุง พบกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ ร้านอาหารระดับ Michelin Star และร้านอาหารจากผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบทางเท้าถนนสีลม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมในเวลา 18.00 น.
  3. ถนนข้าวสาร จะมีการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน(Walking Street) ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค.62 โดยเริ่มปิดถนนเต็มรูปแบบในเวลา 16.00 – 24.00 น. ภายใต้ชื่องาน “ข้าวสาร Walking Street” โดยในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม งานหัตถกรรม สาธิตการทำอาหารไทย รวมถึงอาหารต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงของถนนข้าวสาร

สำหรับการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า กทม.จะดำเนินการบนแนวคิดที่จะทำให้ทางเท้าเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ คือประชาชนทั่วไป เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ สามารถเดินได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยไม่ใช่การห้ามผู้ค้าทำการค้าขาย แต่เป็นการพิจารณาการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบนทางเท้าไปขายยังพื้นที่ซึ่ง กทม.จัดให้ โดยยึดหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังนี้ 1.ต้องไม่กระทบสิทธิ์ในการใช้ทางเท้าของประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้พิการ 2.จะต้องไม่มีการเรียกเก็บหัวคิว และ 3.จะต้องมีความสะอาดและสวยงาม

ดังนั้น ในการพิจารณาคัดเลือกจุดที่จะให้มีการค้าขาย จึงต้องเป็นจุดที่มีความกว้างเพียงพอ ไม่กระทบกับคนเดินทางเท้า เมื่อมีร้านค้าแล้วยังคงต้องมีทางเดินที่กว้างขวางพอสมควร โดยคาดว่าจะสำรวจแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ภายหลังการสำรวจจุดที่ไม่กระทบกับคนเดินทางเท้าแล้วเสร็จ จะจัดระเบียบจุดที่อนุญาตให้ผู้ค้าเริ่มขายในรูปแบบ Street Food เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขายได้หลังปีใหม่ โดยจะให้สิทธิ์แก่ผู้ค้ารายเก่าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ กทม.ก่อนให้สิทธิ์ผู้ค้ารายใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาวิธีการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดความเท่าเทียมและยุติธรรมกับผู้ค้าทุกราย

ส่วนการป้องกันการเรียกเก็บหัวคิว กทม.จะพิจารณาจากผู้ค้าที่มีรายได้น้อยจริงๆ และอาจจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้าให้ แต่จะไม่อนุญาตให้มีการครอบครองแผงค้าตลอดไป กล่าวคือ อาจจะใช้วิธีการจับฉลากเพื่อหมุนเวียนแผงค้า ทุก ๆ 3 หรือ 6 เดือน นอกจากนี้ ควรมีข้อตกลงในการบริหารจัดการและการรักษาความสะอาดที่ชัดเจน เช่น ห้ามเทคราบไขมันลงท่อระบายน้ำ ห้ามล้างจานบนทางเท้า เป็นต้น รวมถึงมีการวางผังและรูปแบบในการตกแต่งร้านให้สวยงามเหมาะสมกับถนนแต่ละเส้น เพื่อให้ทางเท้าเป็นพื้นที่สำหรับคนกรุงเทพฯทุกคนอย่างแท้จริง โดยเน้นย้ำให้ผู้ค้ารักษากฎระเบียบที่ กทม.ตั้งไว้ หากผู้ค้าฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไม่รักษาความสะอาด และเกิดผลกระทบกับคนเดินทางเท้า กทม.อาจมีการยกเลิกการอนุญาตค้าขายในพื้นที่นั้น ๆ ได้

Back to top button