ส่อง 3 หุ้น IPO ตบเท้าเข้าเทรดส่งท้ายปี ลุ้นล้างอาถรรพ์ราคาต่ำจอง

ส่อง 3 หุ้น IPO ตบเท้าเข้าเทรดส่งท้ายปี ลุ้นล้างอาถรรพ์ราคาต่ำจอง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนน้องใหม่ที่ทำการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และมีกำหนดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ พบว่ามี 3 บริษัทจดทะเบียนที่ได้ทำการเสนอขายหุ้น IPO และจะทำการเข้าซื้อขาย ได้แก่

1.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 54.4 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) ในครั้งนี้ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น 2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และ 3.หุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น

สำหรับสัดส่วนในการเสนอขายหุ้น ประกอบด้วย บุคคลทั่วไปไม่เกิน 414.50 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 27 และผู้ลงทุนสภาบันไม่เกิน 1,120.50 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 73

ทั้งนี้กำหนดราคาหุ้นไอพีโอ 17.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (P/BV  ratio) 1.73 เท่า และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเกณฑ์กำไรสุทธิ (Profit Test) โดยกำหนดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ในวันที่ 16 ธ.ค.2562 โดยมีบล.กสิกรไทย และบล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ BAM ประมาณการว่าจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนในครั้งนี้หลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์ จำนวนประมาณ 3,954 – 4,502 ล้านบาท ในกรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้ เพื่อนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคตประมาณ 394 – 449 ล้านบาทภายในปี 2563 และนำเงินไปใช้ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายเพื่อการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายประมาณ 3,546 – 4,040 ล้านบาทภายในปี 2563

ส่วนในกรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯทั้งจำนวน บริษัทฯ ประมาณการว่าจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนในครั้งนี้ประมาณ 7,447 – 8,448 ล้านบาท (ภายหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการเสนอขาย และไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้เพิ่มเติมจำนวนประมาณ 3,507 – 3,959 ล้านบาท จากการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ ภายในปี 2563

สำหรับ BAM ประกอบธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดยเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ถือหุ้นใหญ่ทั้งหมดโดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)

2.บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ KUN เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (par) 0.50 บาทต่อหุ้น ที่ราคา 1.10 บาทต่อหุ้น โดยมีบริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และกำหนดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ในวันที่ 17 ธ.ค.2562

ทั้งนี้จากราคาหุ้นไอพีโอ 1.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) 10.78 เท่า และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเกณฑ์กำไรสุทธิ (Profit Test)

โดย KUN มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้หลังจากหักค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นประมาณ  155.73  ล้านบาท ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้ ลงทุนต่อยอดพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ภายใต้แนวคิด “สุขใจอยู่บ้านชานเมือง” เพื่อพัฒนาและขยายโครงการในทำเลอื่นๆ ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ป่าล้อมเมืองให้ครบ 4 ทิศ รอบกรุงเทพมหานคร (เหนือ, ใต้, ตะวันออก, ตะวันตก) ประมาณ 30 ล้านบาทภายในปี 2562-2563

รวมทั้งเป็นเงินทุนในการพัฒนาโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาประมาณ 60 ล้านบาทภายในปี 2562-2563 และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินประมาณ 60 ล้านบาทภายในปี 2562-2563 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการประมาณ 5.73 ล้านบาทภายในปี 2562-2563

สำหรับ KUN ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบเพื่อขาย โดยเน้นพื้นที่ในเขตปริมณฑลโดยเฉพาะอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ บริษัทฯ มีบริษัทย่อย 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิลล่า วาณิช จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบเพื่อขายเช่นเดียวกัน

โดยโครงการส่วนใหญ่ของบริษัทฯและบริษัทย่อยมีราคาขายประมาณ 2 – 6 ล้านบาท และมีเนื้อที่โครงการประมาณ 8 – 47 ไร่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของกลุ่มบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าวัยเริ่มทำงาน กลุ่มลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมที่มีช่วงอายุ 21 – 55 ปี กลุ่มลูกค้าท้องถิ่น (Local) ที่มีความต้องการขยายครอบครัว

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 โครงการจัดสรรที่กลุ่มบริษัทฯ สามารถปิดการขายโครงการได้แล้วตั้งแต่ดำเนินกิจการมีจำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ อีกทั้งยังมีโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ 7 โครงการ และโครงการในอนาคต 2 โครงการ

3.บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 110 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (par) 1 บาทต่อหุ้น ที่ราคา 3.88 บาทต่อหุ้น โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และกำหนดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดบรรจุภัณฑ์ ในวันที่ 19 ธ.ค.2562

ทั้งนี้จากราคาหุ้นไอพีโอ 3.88 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ratio ที่ 24.52 เท่า และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเกณฑ์กำไรสุทธิ (Profit Test)

โดย SFLEX มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งนี้หลังหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินสุทธิประมาณ 407.95 ล้านบาท ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้ ลงทุนในโครงการผลิตฟิล์มประเภทที่ใช้ในการปิดผนึกขึ้นรูป (Sealant) ประมาณ 140 ล้านบาทภายในปี 2563-2564 และลงทุนสร้างคลังสินค้าประมาณ 50 ล้านบาทภายในปี 2563 รวมทั้งนำไปชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินประมาณ 95 ล้านบาทภายในไตรมาส 1/63 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจประมาณ 122.95 ล้านบาทภายในปี 2563

สำหรับ SFLEX ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ประเภทม้วน (Roll Form) และบรรจุภัณฑ์ประเภทซอง (Pre Form Pouch) รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Stand-up Pouch, 3-Sided Seal Pouch, Center Seal Pouch และ 4-Sided Seal Pouch

Back to top button