“5G The New Beginning…พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย”
เมื่อมีบริการ 5G เกิดขึ้น จะมีการจ้างงานเกิดขึ้น มีการต่อยอดธุรกิจตามมาเรื่อยๆ เนื่องจากเอกชนจะต้องมีการลงทุนไม่น่าจะต่ำกว่าแสนๆ ล้านบาท
งานสัมมนา “5G The New Beginning พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจในวันนี้ (18 ธ.ค. 2562) จะมีการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ 5G ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ DTAC, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และผู้ผลิตอุปกรณ์ (เวนเดอร์) 3 ราย ได้แก่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด
รวมไปถึงจะได้รับฟังการปาฐกถาพิเศษจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอี) และ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติ และประชาชนจะได้รับจาก 5G
“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมาถึงรายละเอียดในงานดังกล่าวว่า งานที่จัดขึ้นผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 ราย จะแสดงวิสัยทัศน์ของเกี่ยวกับเรื่อง 5G ว่าจะต้องเดินหน้าอย่างไร ทำอะไรบ้าง รวมทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ (เวนเดอร์) ทั้งหัวเว่ย อีริคสัน และซิสโก้ จะแสดงวิสัยทัศน์ว่าอุปกรณ์รองรับอะไรได้บ้าง และ 5G มีประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างไรบ้าง ซึ่งจะฉายภาพให้เห็นว่าประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไร
และในช่วงสุดท้าย รมว.ดีอี และเลขาธิการ กสทช.ก็จะฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ผลิตอุปกรณ์ พร้อมสรุปภาพรวมให้เห็นว่าในวันที่ 16 ก.พ. 2563 จะเกิดอะไรขึ้น
โดยหลักเกณฑ์ที่ยกร่างฯ เข้าไปขณะนี้จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่ คือ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งจากการนำร่างประกาศฯ ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย ได้แก่ ADVANC, DTAC และ TRUE ได้แสดงความคิดเห็นว่าถ้าอยากจะเห็นภาพของการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นจริง ควรนำคลื่น 2600 MHz ที่สามารถทำ 5G ได้ทันที มาประมูลเพียงคลื่นความถี่เดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช.จะต้องรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อที่ประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยทั้งหมดจะต้องได้ข้อยุติในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 เพื่อจะนำส่งไปประกาศในราชกิจจานุเษกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
“คลื่น 2600 MHz ได้เรียกคลื่นจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT แล้ว ส่วนขั้นตอนเยียวยาขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ที่มาจากบุคคลภายนอก คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุม กสทช.ในช่วงต้นปี 2563 และจะต้องได้ข้อยุติกรอบวงเงินชดเชยให้กับ MCOT ไม่เกินปลายเดือน ม.ค. 2563”
ทั้งนี้ ยืนยันว่าในวันที่ 16 ก.พ. 2563 ต้องมีการประมูลคลื่นความถี่ 5G อย่างแน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนวัน หรือชะลอการประมูลให้ล่าช้าออกไป เนื่องจากเราอยากให้มีการเริ่มลงทุนต้นเดือน มี.ค. 2563 และจะสามารถเปิดให้บริการในพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่เกินเดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 และในบางพื้นที่ที่ประชาชนมีมือถือที่สามารถรองรับได้ คือ สยามสแควร์ อยากให้เปิดบริการ 5G เช่นกัน รวมถึงพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
เมื่อมีบริการ 5G เกิดขึ้น จะมีการจ้างงานเกิดขึ้น มีการต่อยอดธุรกิจตามมาเรื่อยๆ เนื่องจากเอกชนจะต้องมีการลงทุนไม่น่าจะต่ำกว่าแสนๆ ล้านบาท และเงินที่ได้จากการประมูลก็จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน รวมทั้งจะเกิดผลประโยชน์กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เช่น คนในพื้นที่ชนบทชเข้าถึงระบบสาธารณสุข มีระบบศึกษาออนไลน์ทั้งพื้นที่ในเมือง และชนบท เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงโลกเศรษฐกิจโลกครั้งยิ่งใหญ่
สำหรับการนำ 5G ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ EEC และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะสร้างความแตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร เช่น ภาคการผลิต มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ อาทิ อุปกรณ์โรโบติกต่างๆ มีหุ่นยนต์รองรับการใช้งาน 5G จะทำให้แรงงานคนลดลง และปรับไปใช้อุปกรณ์ IoT และ AI ทดแทน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะที่มูลค่าเพิ่มของการผลิตจะมากขึ้น ขณะที่ภาพเกษตรกร ปัจจุบันทำนา 10 ไร่ ใช้คน 4-5 คน เมื่อ 5G เกิดขึ้น จะมีสมาร์ทฟาร์มมิ่งใช้ระบบ IoT และ AI ส่งผลให้การทำนา 10 ไร่ จะใช้คนเพียง 1 คนเท่านั้น เพราะเป็นควบคุมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอติดตามการมาถึงของ 5G ว่าจะเข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยอย่างไรในอนาคต !!!