ไขข้อสงสัย “กองทุน SSF” ฉุดเม็ดเงินตลาดหุ้นหายจริงหรือมั่ว?
"กองทุน SSF" ตอบโจทย์นักออมรุ่นใหม่ ฉุดเม็ดเงินตลาดหุ้นหาย?
ในปี 2563 นักลงทุนจะได้พบกับกองทุนเพื่อการออมระยะยาวใหม่ หรือ Super Savings Fund (SSF) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทดแทนกองทุนรวมระยะยาวเดิม หรือ Long Term Equity Fund (LTF) โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป หลังจากที่กองทุน LTF ครบกำหนดใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2562 ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2562 “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสรุปข้อมูลที่นักลงทุนควรรู้ ดังนี้
โดยกองทุน SSF จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี ขณะที่กองทุน LTF ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ ประกอบด้วย กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
ทั้งนี้กองทุน SSF เปิดกว้างให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท โดยไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่อยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากกองทุน LTF กำหนดต้องมีการลงทุนในหุ้นไทยสัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65%
อีกทั้งผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ จากเดิมกองทุน LTF กำหนดให้ถือครอง 7 ปีปฏิทิน แล้วเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงินไขที่กำหนด โดยผู้ลงทุนสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (ปี 2563-2567) โดยเมื่อครบ 5 ปี กระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการฯ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตามในปี 2563 กองทุน LTF จะยังคงมีอยู่ตามเดิม ผู้ลงทุนสามารถซื้อเพิ่มหรือลงทุนใหม่ได้ ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เมื่อนักลงทุนจะไม่โดนภาษีจากกำไรเวลาขายคืน
สำหรับแนวโน้มการลงทุน SSF ในปีหน้านั้น บล.บัวหลวง ให้ความคิดเห็นไว้ว่า กองทุน SSF อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การลงทุนในตลาดทุนมากนัก ไม่เหมือนกับกองทุน LTF ที่บังคับให้ลงทุนหุ้นไทยอย่างน้อย 65% แต่กองทุน SSF จะเป็นการออมในระยะที่ยาวขึ้นกว่าเดิม หรือ 10 ปี และยังลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท โดยมีจุดเด่น คือ การนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 แสนบาท ทำให้ตอบโจทย์กับนักออมเงินรุ่นใหม่
ดังนั้น เม็ดเงินที่จะเข้ามาใน SSF อาจจะคาดหวังไม่ได้ 100% ว่าจะเข้ามาในตลาดหุ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายๆ ตลาดมี Valuation ที่ไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว มองเป็นโอกาสสำหรับกองทุนต่าง ๆ ที่เตรียมจะออกกองทุนหุ้นไทยในปีหน้า น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เนื่องจากไม่บ่อยนักที่จะเห็นหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวลง อย่างกลุ่มปิโตรเคมี, โรงกลั่น, น้ำมัน, พลังงาน และธนาคารพาณิชย์ ที่ปรับตัวลงมาถูกที่สุดในรอบ 10 ปี รวมถึงยังมองเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้เห็นกองทุนดังกล่าวออกมาแล้วมีการปรับน้ำหนักลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า แนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีการจัดหมุนเวียนลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะพบว่าผลตอบแทนในแต่ละกลุ่มปรับตัวขึ้นมากกว่า Set index เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า ถ้ากองทุนไหนที่มีลักษณะการลงทุนในหุ้นชุดดังกล่าว ผลตอบแทนก็จะชนะตลาด
อย่างไรก็ตามหุ้นที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่มีการถูกเทขายออกมาค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มโรงกลั่น และหุ้นที่เชื่อมโยงกับการส่งออก อย่างอิเล็กทรอนิกส์ ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ทำให้คาดหวังได้ว่าหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมาค่อนข้างมากจะฟื้นตัวกลับขึ้นไปได้ไม่มากก็น้อย
ขณะเดียวกัน บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า กองทุน SSF มีความแตกต่างจากกองทุน LTF โดยสิ้นเชิง เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 65% แต่จะคล้ายกับกองทุน RMF มากกว่า เพียงแต่ว่าอายุยาวขึ้น โดยขึ้นอยู่กับนักลงทุนมากกว่าว่าจะกล้าเสี่ยงหรือไม่
อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีกองทุน LTF หรือมี LTF นักลงทุนจะยังเลือกลงทุนในหุ้น ขณะที่กองทุน SFF ก็ไม่ได้มีภาคบังคับว่าจะต้องลงทุนในหุ้น แต่ภาวะตลาดฯ เป็นตัวบังคับ เนื่องจากทิศทางของผลตอบแทนในหุ้นยังคงโดดเด่น ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (ตราสารหนี้) ก็คงจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับปีนี้ รวมถึงยังไม่เห็นสัญญาณที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นในปีหน้าด้วย ซึ่งเงินก็ต้องหาที่ไปในที่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก
สำหรับการเลือกซื้อกองทุนในปีหน้ามองกองทุน ACTIVE น่าจะได้เปรียบกว่ากองทุน PASSIVE เนื่องจากภาวะตลาดที่ยังไม่ได้ไปไหนไกล แต่หากต้องการที่จะลงทุนให้ดูช่วงที่มั่นใจทิศทางตลาด
ในส่วนของ บลจ.กสิกรไทย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลพยายามที่จะให้คนตระหนักถึงการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้น จึงขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเดิมที่ 15% เป็น 30% และปรับให้การออมเพื่อการเกษียณมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยโครงสร้างใหม่ของกองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง แต่ต้องถือครบ 10 ปี ดังนั้น คนรุ่นใหม่หรือผู้ที่ไม่เคยลงทุนใน RMF อาจจะมีความสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้การออมเพื่อการเกษียณของคนไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และโครงสร้างของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในอนาคต การออมที่เพียงพอและการหาผลตอบแทนจากการออมผ่านการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันการออมและการลงทุนอาจจะยังไม่มีประสิทธิผลที่เพียงพอและไม่ครอบคลุม
ดังนั้นกองทุน SSF จะเข้ามาช่วยในการขยายฐานให้เข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งกองทุนยังมีความยืดหยุ่นในแง่การลงทุนได้หลากหลายประเภทสินทรัพย์กว่า LTF เดิมที่เน้นลงทุนเฉพาะในหุ้นเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายการลงทุนเปิดกว้างขึ้น ผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของการลงทุนในระยะยาวจึงยังเป็นโจทย์หลักที่ท้าทายของทุกฝ่าย
สำหรับขนาดของกองทุน LTF ทั้งอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีประมาณ 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การที่ไม่มีการต่ออายุโครงการออกไป คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลออกประมาณ 30,000 – 40,000 ล้านบาท และประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจาก SSF เข้ามาทดแทนประมาณ 20,000 – 40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มีความพร้อมในการจัดตั้งกองทุน SSF ให้สอดรับกับโครงสร้างใหม่ที่เปิดกว้างด้านนโยบายการลงทุนให้สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภททั้ง ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และกองทุนผสม ซึ่งบริษัทจะพิจารณาจัดตั้งกองทุน SSF ให้เหมาะกับผู้ลงทุนรุ่นใหม่ หรือผู้ลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาเรื่องการลงทุน เพื่อให้มีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย และสามารถจัดพอร์ตเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองประเด็นครม.เห็นชอบกองทุน SSF แทนกองทุน LTF เป็นลบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้าตลาดหุ้นน้อยลงมาก และมองว่ากองทุนมีแรงจูงใจน้อยลงเพราะถือนานกว่าเดิม
เช่นเดียวกับ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตามที่ครม.เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุน LTF เป็นกองทุน SSF แทนนั้น คาดว่าเม็ดเงินจากกองทุน SSF จะเข้าตลาดหุ้นน้อยลงเมื่อเทียบกับกองทุน LTF
จากคำวิพากษ์วิจารณ์หลายเสียงของนักวิเคราะห์หลายสถาบัน แสดงให้เห็นว่า ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์นั้น กองทุน SSF มีความน่าสนใจในเรื่องของการดึงดูดรุ่นใหม่ให้เข้ามาลงทุน แต่สิ่งที่น่ากังวลเป็นเรื่องของข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้น ที่ไม่ได้มีกำหนดเอาไว้เหมือนกองทุน LTF ที่ต้องลงทุนหุ้นอย่างน้อย 65% ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นน้อยลง
ดังนั้น ประเด็นที่น่าติดตามต่อไปก็คือ ในปี 2563 กองทุน SSF จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนมากน้อยเพียงใด เพราะหากไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จะส่งผลให้เม็ดเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นน้อยลงตาม และจะทำให้ตลาดหุ้นในปี 2563 นั้น ซบเซาลงไปอย่างที่นักวิเคราะห์คาดการณ์