“ธุรกิจโบรกเกอร์” กำไรทรุดหนัก! จับตาหนทางแก้ปัญหาสู่ความอยู่รอด?

“ธุรกิจโบรกเกอร์” กำไรทรุด! จับตาหนทางแก้ปัญหาสู่ความอยู่รอด?


ในปี 2562 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่จะออกมาได้ไม่ค่อยสู้ดีนัก หลังเจอปัจจัยกดดันรุมเร้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหนึ่งในกลุ่มของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และเทรนเทคโนโลยีของโลกคงหนีไม่พ้นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ โดยพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (H1/62) กลุ่มธุรกิจนี้มีกำไรสุทธิรวมทั้งหมด 38 บริษัทหลักทรัพย์ที่ระดับ 3.51 พันล้านบาท ลดลง 37%

โดยจากการสำรวจพบว่ามี 19 บริษัทหลักทรัพย์จากจำนวน 38 บริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลขาดทุนสุทธิ โดย “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จะนำเสนอผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลขาดทุนหนักสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

1 ) บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 62 ขาดทุน 201.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 79.21 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3/62 ยังคาดทุนเพิ่มขึ้นมาที่ 62.76 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 12.47 ล้านบาท

2 ) บริษัท หลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DBS รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 62 พลิกขาดทุน 135 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 88.77 ล้านบาท

3 ) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 พลิกขาดทุน 88.34 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 32.48 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สามารถทำผลงานพลิกมีกำไร 3.42 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 33.66 ล้านบาท

4 ) บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ KT ZIMICO รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 พลิกขาดทุน 76.54 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 30.04 ล้านบาท

5 ) บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ KINGSFORD รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 ขาดทุนเพิ่มขึ้นมาที่ 63.64 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 40.79 ล้านบาท

6 ) บริษัทหลักทรัพย์อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ RHB รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 ขาดทุนเพิ่มขึ้นมาที่ 57.11 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 27.56 ล้านบาท

7 ) บริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด หรือ AWS รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 ขาดทุนเพิ่มขึ้นมาที่ 51.99 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 14.74 ล้านบาท

8 ) บริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด หรือ SBITO รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 ขาดทุนลดลงเหลือ 38.29 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 70.05 ล้านบาท

9 ) บริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PST รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 พลิกขาดทุน 34.16 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 92.18 ล้านบาท

10 ) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) หรือ CGS-CIMB รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2562 พลิกขาดทุน 26.99 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 128.84 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 5 บริษัทที่มีผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีกำไร ประกอบด้วย

1 ) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีกำไร 505.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 485.58 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของ KGI ในงวดไตรมาส 3/62 มีกำไร 232.61 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 282.46 ล้านบาท

2 ) บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน จำกัด หรือ JP Morgan รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 150.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 125.24 ล้านบาท

3 ) บริษัท หลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 พลิกมีกำไร 74.05 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 27 ล้านบาท

4 ) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีกำไร 35.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 32.33 ล้านบาท

5 ) บริษัท หลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ IVG รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2562 พลิกมีกำไร 4.57 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 11.45 ล้านบาท

อนึ่ง ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นการรายผลการดำเนินงานของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งมีการรายงานต่อ ก.ล.ต.ปีละ 2 ครั้ง (งบครึ่งปี และงบปี) โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่มีการรายงานงบการเงินรายไตรมาส

ทั้งนี้ สาเหตุที่ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมของนักลงทุน

โดย นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ อดีตนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่กำไรของบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะวอลุ่มการซื้อขายเฉลี่ยครึ่งปีแรกอยู่ในระดับต่ำเพียง 4.8 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 5.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลต่อรายได้ค่านายหน้า ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทหลักทรัพย์

ประกอบกับอัตราค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.09% จากปีก่อนที่ 0.10% และปี 60 ที่ 0.11% สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.79 เท่า จากปีก่อน 0.76 เท่า และปี 60 ที่ 0.75 เท่า

โดยในช่วง 1-2 ปีนี้อุตสาหกรรมโบรกเกอร์จะต้องเร่งปรับตัวรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมของนักลงทุน ระยะสั้นต้องลงทุนเพื่อหาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุดและอาจจะกระทบต้นทุนบ้าง แต่เป็นการลงทุนระยะยาว เพื่อยกระดับธุรกิจเข้าสู่ยุคถัดไป ซึ่งระยะสั้นอาจจะยังเห็นหลายบริษัทประสบภาวะกำไรลดลงหรือขาดทุน แต่ระยะยาวธุรกิจจะยังอยู่ได้ เพราะนักลงทุนทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ค่าคอมฯ ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทกำไรเริ่มลดลง บางบริษัทถึงกับพลิกขาดทุน เหมือนกับว่าแข่งขันค่าคอมฯ เพื่อให้มีลูกค้ามาเทรดมากขึ้น แต่สุดท้ายบริษัทได้แค่ตัวเลขมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น แต่กำไรลดลง ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย และไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมในระยะยาว

โดยบริษัทหลักทรัพย์ต้องหาจุดยืนทางธุรกิจให้ชัดเจนว่าจะเน้นจุดเด่นบริการด้านไหน ซึ่งของทิสโก้จะเน้นบริการลูกค้าสถาบันมากขึ้น พัฒนาคุณภาพบทวิจัย ลงทุนฟินเทคเพื่อใช้นวัตกรรมเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ขณะที่ลูกค้ารายย่อยก็จะเน้นทำในสิ่งที่มีอยู่ เพียงแต่จะเน้นการบริการและมีความใกล้ชิดในการแนะนำลูกค้ามากขึ้น โดยมองว่าในอนาคตโบรกเกอร์ที่ไม่มีจุดขายชัดเจนจะอยู่ยากขึ้นในอุตสาหกรรม

ด้าน นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ลดลงต่อเนื่องของตลาดหุ้นไทย ส่งผลต่อวอลุ่มการซื้อขาย และผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์ โดยล่าสุดสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยเหลือเพียง 33% จากสิ้นปีก่อนที่ 39% และสิ้นปี 60 ที่ 46.45%, สิ้นปี 59 ที่ 52.38%, สิ้นปี 58 ที่ระดับ 55.93% และสิ้นปี 57 ที่ 59.29% สาเหตุเกิดจากการเข้ามามีบทบาทของโปรแกรมซื้อขายอัตโนมัติ ที่มีความรวดเร็วในการซื้อขาย กระทบต่อโอกาสการทำกำไรของรายย่อย

โดยต่อจากนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นขยายสินค้าและบริหารให้หลากหลายและครอบคลุมให้ลูกค้ามีทางเลือกการลงทุนมากที่สุด ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาบุคคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ด้าน นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า หลังจากนี้บริษัทจะเน้นเทคโนโลยีการซื้อขายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เน้นซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันจะไม่หยุดพัฒนาคุณภาพด้านงานบริการต่างๆ โดยเฉพาะคุณภาพของบทวิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าจับตาสำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2562 และงบปี 2562 ว่าภายหลังจากที่บริษัทได้ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันจะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทพลิกฟื้นขึ้นมาได้มากหรือน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 ยังมีประเด็นของกองทุน SSF ที่คาดว่าจะส่งผลให้ประชาชนลงทุนในหุ้นน้อยลง เนื่องจาก (เนื่องจากกองทุน SSF เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เพราะกองทุน SSF มีจุดประสงค์หลักเพื่อการออม ร่วมกับใช้ลดหย่อนภาษีของผู้มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษีในแต่ละปีนั่นเอง) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นรายได้หลักของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์โดยตรง

อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของประชาชนน้อยลง กระทบต่อรายได้ที่เหลือจากการออมทั้งในตลาดหุ้นและกองทุนน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นปี 2563 จึงยังเป็นปีที่ท้าทายผู้ประกอบการให้เร่งปรับปรับเข้ากับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อความอยู่รอดในวันข้างหน้า

Back to top button