“ประยุทธ์” เร่งสรรพากรเก็บภาษีขายของออนไลน์ผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติ 7% คาดบังคับใช้ปี 64

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เร่งสรรพากรเก็บภาษีขายของออนไลน์ผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติ 7% คาดมีผลบังคับใช้ปีงบประมาณ 2564


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ.… เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และเร่งให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บภาษี e-Business อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อต้องการให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ส่วนผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ได้มีบริษัทในไทย จากนี้จะต้องเสียภาษีเช่นเดียวผู้ประกอบการไทยด้วย

นายเอกนิติ กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการตรวจรายเอียดของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายมาตรา เพราะเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จ จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกเป็น พ.ร.บ.บังคับใช้ต่อไป

“คาดว่าในทางปฏิบัติ จะได้ใช้จริงคือปีงบประมาณ 64 เม็ดเงินที่เราคาดการณ์ว่าจะจัดเก็บได้ในปีแรก คือ ประมาณ 4,000 ล้านบาท เฉพาะบริษัทของต่างประเทศ”

นอกจากนี้ยังย้ำอีกว่า การปรับปรุงกฎหมายทางภาษีต่างๆ มุ่งหวังเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้ค้าที่จดทะเบียนร้านค้าและเข้าระบบฐานภาษีปกติ กับร้านค้าที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูล เพราะหากไม่ดูแลให้เท่าเทียมกัน เท่ากับเป็นการเอาเปรียบผู้ที่ชำระภาษีอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้ามาขายสินค้าและบริการในไทยจะต้องชำระภาษีอย่างเท่าเทียมกับผู้ประกอบการไทย

“บริษัทขนาดใหญ่พวกนี้ เขามาคุยกับผมว่าเขาพร้อมที่จะร่วมมือ แต่ขอให้มีกฎหมายนี้ออกมา มันจะช่วยสร้างความเป็นธรรม เป็นนโยบายสร้างความเป็นธรรมทางภาษี เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการไทยจะเสียเปรียบผู้ประกอบการจากต่างประเทศ” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ

นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะแก้ไขกฎหมาย มาตรา 10 ของกรมสรรพากร เพื่อให้กรมฯ สามารถนำข้อมูลของบริษัทที่ยื่นเสียภาษีในไทยนำไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกรมสรรพากรในต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (Exchange of Infomation)  หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี e-Business ของบริษัทต่างชาติ ขณะที่บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่เข้าระบบการเสียภาษี e-Business หากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าในไทยนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่าควรเป็นอย่างไร

“กรมสรรพากร มีกฎหมายมาตรา 10 ที่ไม่สามารถนำข้อมูลของนายเอ นายบี หรือบริษัทเอ บริษัทบี ไปให้คนอื่นได้ แต่กฎหมายมาตรา 10 เราจะต้องปรับ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อที่จะมีผลผูกพัน คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยการที่ถ้าเขาขอเรา เราก็สามารถให้ข้อมูลเขาได้เช่นกัน เช่น เมื่อบริษัท XYZ มาจดทะเบียนในเมืองไทย แต่ดันไปให้บริการที่ต่างประเทศ เราก็สามารถเอาข้อมูลเหล่านี้ ส่งให้ต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ

ส่วนการจัดเก็บภาษีกับผู้ขายสินค้าออนไลน์ในประเทศนั้น นายเอกนิติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมฯ ได้ดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษี ด้วยการให้มายื่นแสดงรายได้กับกรมฯ ได้แล้วถึง 100,000 ราย และมีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับผู้ค้าได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งปีงบประมาณ 2563 กรมฯ ตั้งเป้าจะดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษีให้เพิ่มขึ้นเป็น 170,000 ราย โดยเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทแน่นอน

“กรมฯ มีการจัดตั้งกองสำรวจธุรกิจนอกระบบขึ้นมาใหม่ เพื่อเข้าไปตรวจสอบดูว่าผู้ค้าออนไลน์มีที่ไหนบ้าง เช่น ในเฟซบุ๊ก ลาซาด้า ช้อปปี้ และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายได้ส่วนนี้ ก็จะเรียกมาพูดคุย และทำให้ถูกต้อง ซึ่งจุดประสงค์หลักไม่ได้ต้องการรีดภาษีจากกลุ่มคนพวกนี้ แต่ต้องการให้เข้าระบบอย่างถูกต้องมากกว่า” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ

Back to top button