AIT เซ็นพัฒนาระบบขาย-จองตั๋วรถไฟ “รฟท.” หลังประมูลชนะด้วยมูลค่า 920 ลบ.

AIT เซ็นพัฒนาระบบขาย-จองตั๋วรถไฟ “รฟท.” หลังประมูลชนะด้วยมูลค่า 920 ลบ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดพิธีลงนามสัญญาโครงการจ้างพัฒนาระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่ง (D – Ticket) กับ บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 920 ล้านบาท

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า สืบเนื่องจาก รฟท.เป็นผู้ให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟมีสถานีให้บริการทั้งหมด 444 สถานี ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้ติดตั้งระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่ง เพื่อให้บริการออกตั๋วโดยสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์แก่ผู้โดยสาร ในระบบ STARS-2 (Seat Ticketing and Reservation System Stage 2) เป็นระบบจองและจำหน่ายตั๋วที่นั่งรถโดยสารออนไลน์

โดย รฟท.ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ 20 ปี (พ.ศ. 2543 – 2563) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือน ส.ค.63 ในขณะเดียวกันระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารปัจจุบันได้มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่สามารถรองรับระบบจำหน่ายตั๋วด้านดิจิทัลได้ ดังนั้น เพื่อให้การบริการประชาชนในการสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสารเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สะดวก รวดเร็ว จึงได้จัดหาบริษัทเอกชนดำเนินการโครงการจ้างพัฒนาระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่ง (D – Ticket) หรือการจำหน่ายตั๋วด้วยระบบดิจิทัล ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการซื้อเอกสารจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย

  1. บริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ จำกัด
  2. บริษัท เอ พี โฟร์ เทคโนโลยี จำกัด
  3. บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บริษัทในกลุ่ม BTS)
  4. บริษัท บางกอก เพย์เมนต์ โซลูชันส์ จำกัด
  5. บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY)
  6. บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (AIT)
  7. บมจ. สกาย ไอซีที (SKY)

โดยหลังจากสิ้นสุดเมื่อสิ้นสุดการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ได้มีผู้ประกอบการยื่นเสนอราคาพร้อมเอกสารหลักฐานการเสนอราคา จำนวน 2 ราย คือ 1. บริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ จำกัด และ 2. บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี  ปรากฏว่า บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี  ได้เสนอราคาต่ำสุด จึงได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการดังกล่าว

ด้านนายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า การจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่ง (D – Ticket) ของการรถไฟฯจะเป็นระบบซื้อตั๋วโดยสารผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ ซึ่งหลังจากการติดตั้งระบบแล้วจะสามารถให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่งได้ทุกช่องทาง ทั้งจำหน่ายภายในสถานี ซื้อผ่านออนไลน์ ซื้อผ่านโมบายแอปพลิเคชัน รองรับการทำงานร่วมกับ QR Code รวมทั้งผู้โดยสารขึ้นระหว่างสถานีได้ด้วย

ส่วนระบบการชำระเงินผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ โดยจะต้องดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นชื่อ D-ticket สมัครสมาชิกและยืนยันข้อมูล จากนั้นจะสามารถดำเนินการจองตั๋วและชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะได้รับรหัสยืนยันและคิวอาร์โค้ด เพื่อแสดงข้อมูลการเดินทาง

รวมทั้งระบบดังกล่าวยังรองรับระบบการจองตั๋วรูปแบบอื่น ทั้งการซื้อตั๋วออนไลน์ผ่านสถานีทั่วประเทศ การซื้อผ่าน Call center 1690 โดยการแจ้งรายละเอียดการเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นโดยผู้โดยสารจะได้รับรหัสยืนยัน เพื่อนำรหัสไปออกตั๋วที่สถานีพร้อมชำระเงินภายใน 24 ชั่วโมง โดยสามารถชำระเป็นเงินสด หรือชำระผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ได้ทันที ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสารระบบดังกล่าวได้ภายในปี 64

Back to top button