เปิดสังเวียนศึกค่ายมือถือชิง 5G
จับตา! สังเวียนศึกค่ายมือถือชิง 5G
ขับเคี้ยวกันมานานสุดท้ายได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างกันซะทีสำหรับการประมูล 5G ซึ่ง ยืนยันหนักแน่นว่าจะจัดการประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ.2563 ตามแผนที่วางไว้แน่นอน และเริ่มบริการได้ในเดือนก.ค.2563 โดยที่ประชุมกรรมการกสทช.มีมติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่ คือ คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) คลื่น 1,800 MHz คลื่น 2,600 MHz และคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz)
ทั้งนี้กสทช.กำหนดรูปแบบการประมูลเป็นแบบมัลติแบนด์ ใช้วิธี Clock Auction โดยจะให้ประมูลไปทีละคลื่นความถี่เรียงลำดับจากคลื่น 700 MHz คลื่น 1800 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz โดยหากในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดในการยื่นแสดงความจำนงเข้าประมูลคลื่นความถี่ไม่มีผู้มายื่นย่านใดย่านหนึ่งในการประมูลจะไม่มีการประมูลคลื่นในย่านนั้น
สำหรับรายละเอียดในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวนที่นำมาประมูล 15 MHz แบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ สามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละร้อยละ 10 ของราคาที่ประมูลได้ โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1,800 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 35 MHz แบ่งออกเป็น 7 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 4 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 12,486 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 50 ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระร้อยละ 25 ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระร้อยละ 25 ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่
ด้านคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 190 MHz แบ่งออกเป็น 19 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 10 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระร้อยละ 10 ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระร้อยละ 15 ของราคาที่ชนะการประมูล
โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมร้อยละ 40 ขอพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุมร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรของ Smart City ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 270 MHz แบ่งออกเป็น 27 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 12 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท กำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่
สำหรับกรอบระยะเวลาของการดำเนินงานเปิดประมูล 5G กสทช. ได้กำหนดเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในช่วงวันที่ 13 พ.ย. 2562 ถึง 12 ธ.ค.2562 เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2562 เพื่อออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจในวันที่ 2 ม.ค. 2563 และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 ก.พ.2563 โดยจะมอบใบอนุญาตในเดือนมี.ค.2563 และเริ่มให้บริการเดือนก.ค.2563
ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้สำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 5G พบว่า 3 ผู้ประกอบธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ อย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ยังมีความไม่แน่นอนที่จะเข้าร่วมประมูล 5G ในครั้งนี้
โดยมีรายงานว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ได้เข้าพบนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการถึงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยเสนอให้จัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ย่านเดียว ในรูปแบบการประมูลปกติ และให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700, 1800 MHz และ 26 GHz ออกมาประมูลครั้งต่อไป เนื่องจากปัจจุบันโอเปอเรเตอร์มีเงินลงทุนอย่างจำกัด และจะต้องนำไปลงทุนด้านการวางโครงข่ายด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ 5G ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ได้เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ 5G ไว้แล้ว โดย DTAC ได้เตรียมพร้อมในส่วนของเทคโนโลยี เพื่อเป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทยที่นำโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน (Visualized Core Network: VCN) มาดำเนินงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดและรองรับการอัปเกรดใช้งาน 5G ได้ทันที ดีแทคได้มองหารูปแบบการให้บริการ ต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ตไร้สายแบบคงที่สู่การเชื่อมต่อยานยนต์ และที่สำคัญจะไม่หยุดพัฒนาไปทั้ง 4G และ 5G
ส่วน TRUE เตรียมความพร้อมเรื่องของเครือข่าย 5G มาโดยตลอด ตั้งแต่ ปี 2559 โดยร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ทดสอบทั้งเทคโนโลยี และระบบส่งสัญญาณ 5G ต้นแบบสำเร็จเป็นรายแรกในไทย รวมทั้งเปิดให้คนไทยได้ทดสอบความเร็ว 5G พร้อมกับทรูมูฟ เอช ที่ความเร็วสูงสุดถึง 18 Gbps. นอกจากนี้ยังได้นำจุดเด่นของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากต่างประเทศอย่าง “ ไชน่าโมบายล์” ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำของโลกด้วยฐานลูกค้าที่มากที่สุดในโลก 925 ล้านรายเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของทีมงานอีกด้วย
ด้าน ADVANC ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้จะกำหนดกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างเอไอเอสและหัวเว่ย โดยจะมุ่งเน้นไปยังบริการที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น eMBB (Enhanced Mobile Broadband), URLLC (Ultra Reliable Low-latency Communications) และ eMTC (Enhanced Machine Type Communications) นอกจากนั้น บันทึกความเข้าใจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นผู้นำให้กับเอไอเอสในการให้บริการ 5G
ทั้งนี้จากการสำรวจผลการดำเนินงานพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 พบว่า TRUE มีรายได้รวม 115,980 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,426 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.68% EBITDA อยู่ที่ 35,963 ล้านบาท เงินสดสุทธิ 2,543 ล้านบาท
ส่วน DTAC มีรายได้รวม 60,490 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,919 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 8.13% และ EBITDA อยู่ที่ 19,455 ล้านบาท เงินสดสุทธิติดลบ 8,849 ล้านบาท
ด้าน ADVANC มีรายได้รวม 132,589 ล้านบาท กำไรสุทธิ 24,124 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 18.19% และ EBITDA อยู่ที่ 60,109 ล้านบาท เงินสดสุทธิ 2,226 ล้านบาท
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังได้ประเมินแนวโน้มการลงทุนในหุ้นผู้ประกอบการค่ายมือถือต่อสถานการณ์ประมูลคลื่น 5G ในปี 2563 ซึ่งบล.เอเซีย พลัส ให้ความเห็นว่า ไม่กังวลต่อการเกิดขึ้นของรายที่ 4 และเชื่อว่าราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากเกินไป เนื่องจากผู้ที่มีท่าทีสนใจประมูลคลื่น 700 MHz คือ CAT ซึ่งแม้ฐานะการเงิน CAT รองรับได้ แต่ยังขาดความพร้อมฐานลูกค้า และแนวโน้มที่จะยังไม่สามารถใช้คลื่นได้ทันทีหลังประมูล เช่น คลื่นอื่นๆ จากปัญหาคลื่นไมโครโฟนรบกวน ที่ต้องใช้เวลาจัดการอีกกว่า 1 ปี ท้ายที่สุด เชื่อว่า CAT น่าจะใช้บริการตามแนวทางรัฐฯกำหนดให้ร่วมประมูลเพื่อรองรับบริการสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งไม่น่าแข่งขันกับเอกชนโดยตรง
นอกจากนี้ กสทช. ได้มีการปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ในเรื่องการเพิ่มเงินประกันการประมูลเพิ่มจากเดิมเป็นราว 30% ของราคาตั้งต้น จากเดิม 10% ซึ่งน่าจะช่วยคัดกรองผู้ที่สนใจประมูลเพื่อทำธุรกิจจริง ลดความเสี่ยงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นตอนประมูลคลื่น 4G
ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างประมูลดังกล่าวยังคงมุมมองคาดว่าเอกชน 3 รายจะให้ความสำคัญกับคลื่น 2,600 MHz และ 26 GHz เนื่องจากราคาที่ถูก, เป็นคลื่นที่ยังไม่มี และใช้งาน 5G ได้ ซึ่งด้วยปริมาณคลื่นที่มีเพียงพอให้ทุกราย (2,600 MHz 19 ใบอนุญาต, 26 GHz 27 ใบอนุญาต) ประกอบกับ รัฐวิสาหกิจน่าจะไปให้ความสนใจกับคลื่น 700 MHz จึงเชื่อว่าราคาประมูลคลื่น 2,600 MHz และ 26 GHz จะออกมาใกล้เคียงราคาตั้งต้น ซึ่งหากกำหนดแต่ละรายได้คลื่นรายละเท่าๆกัน
อีกทั้งยังคงประเมินต้นทุนคลื่น 5G ที่จะประมูลจะสร้างภาระเฉลี่ย ที่ยังไม่รวมในประมาณการไม่เกินปีละ 1 พันล้านบาทต่อราย แม้จะต่ำลงกว่าคลื่น 4G ที่มีต้นทุนสูงกว่ามาก แต่ด้วยฐานกำไรแต่ละรายที่แตกต่างกัน Downside ต่อประมาณการจึงจำกัดต่อ ADVANC ผู้ที่มีฐานกำไรปกติสูง (3.2 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น
ส่วน DTAC และ TRUE ที่มีฐานเล็กกว่าจะกระทบสูง หากพิจารณาจากฐานกำไรปกติ DTAC ที่ 6.3 พันล้านบาท และขาดทุนปกติ TRUE ที่ 1.3 พันล้านบาท ภาพรวม Downside ต้นทุนที่อาจบั่นทอนการเติบโตกำไรปี 2563 ลงมาใกล้ตลาด จึงยังให้ลงทุน เท่าตลาด หุ้นแข็งแกร่งที่เชื่อว่ายังรักษาฐานกำไรได้ เลือก ADVANC ราคาเป้าหมายที่ 270บาท/หุ้น เท่านั้น
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า กลายเป็น กสท.ที่ต้องการคลื่น 700 MHz เพื่อให้ครบ แต่รายใหญ่กลับต้องการคลื่น 2,600 MHz มากกว่า จนอาจมีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเป็นผู้นำคือ ADVANC และ TRUE จากที่มี 19 ไลเซนส์ อาจเหลือราว 7 ไลเซนส์ สำหรับ DTAC และ กสท. นั่นคือ แต่ละรายมีความต้องการที่มากขึ้น สรุปคือ อาจเป็นลบเล็กน้อยที่ภาระการลงทุนอาจจะมากขึ้น หากต้องจ่ายเงินประมูลสูงขึ้น หากราคาหุ้นอ่อนลง แนะนำทยอยสะสม ADVANC ราคาพื้นฐาน 266 บาท
ขณะเดียวกันบล.เอเชีย เวลท์ มองว่าการที่ กสทช. ได้นำคลื่น 700MHz กลับมาประมูลอีกครั้งหลัง CAT ได้ทำหนังสือแจ้งความต้องการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่ม ICT เนื่องจากเกิดความกังวลว่าจะเกิดผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาในการประมูลคลื่นที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งการแข่งขันในการให้บริการในอนาคต
อย่างไรก็ตามเชื่อมีโอกาสน้อยมากที่ผู้เล่นรายใหม่(รัฐวิสาหกิจ)จะเข้ามาแข่งขันในเชิงพาณิชย์ แนะนำ ADVANC ประเมินราคาเป้าหมาย 250 บาท/หุ้น เนื่องจากเป็นผู้นำในกลุ่ม ICT รวมทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาระบบ 5G ให้เป็น New S-Curve
ดังนั้น ประเด็นที่หน้าจับตามองต่อไปว่าในวันที่ 4 ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นสุดท้ายที่กสทช.เปิดโอกาสให้เอกชนยื่นเจตจำนงประมูลคลื่นนั้นจะมีเอกชนรายใดเสนอชื่อร่วมประมูลบ้าง และเอกชนแต่ละรายยื่นเข้าร่วมประมูลคลื่นใดบ้าง
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ADVANC จะเป็นค่ายมือถือที่มีความพร้อม และคาดว่ามีโอกาสที่จะเข้าเป็นตัวเต็งในการประมูลในรอบนี้มากที่สุด เนื่องจากมีฐานกำไรที่แข็งแกร่งกว่ารายอื่นๆ โดย ADVANC ต้องการนำเทคโนโลยี 5G มาต่อยอดกับธุรกิจ เพื่อความสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยังมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำของเอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลในประเทศไทย
อีกทั้งการประมูล 5G ยังถือว่าเป็นปัจจัยกดดันหุ้นในกลุ่มดังกล่าวจากต้นทุนที่จะต้องใช้สำหรับประมูลคลื่น 5G ทั้งหมด อีกทั้งต้นทุนจากการลงทุนในเสาส่งสัญญาณที่จะเป็นภาระที่หนักหน่วงสำหรับผู้ประกอบการให้ต้องคิดคำนวณอีกเยอะเลยทีเดียว
โดยจากการสำรวจข้อมูลจากการประมูล 4G เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ทพบว่าราคาหุ้น และผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวทั้ง 3 บจ. ต่างปรับตัวลดลงภายหลังจากการประมูลถ้วนหน้า
สำหรับคลื่น 1,800 MHz มีจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15MHz จัดประมูลวันที่ 11 พ.ย.2558 โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือของ TRUE ชนะประมูลใบอนุญาตใบแรก มูลค่า 39,792 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือของ ADVANC คว้าใบอนุญาตใบที่สอง มูลค่า 40,986 ล้านบาท
ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการประมูลในวันที่ 12 พ.ย.2558 ราคาหุ้น ADVANC ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 211 บาท หรือ 6.64% ส่วนราคาหุ้น TRUE ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 9.20 บาท หรือ 8% ด้านราคาหุ้น DTAC ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 56 บาท หรือ 8.20%
ส่วนคลื่น 900 MHz มีจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10MHz จัดประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.2558 ถึงวันที่ 19 ธ.ค.2558 โดยบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ในชุดที่ 1 คลื่น 895-905 MHz คู่กับ คลื่น 940-950 MHz มูลค่า 75,654 ล้านบาท ส่วนบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะประมูลชุดที่ 2 คลื่น 905-915 MHz คู่กับ คลื่น 950-960 MHz มูลค่าสุดท้ายที่ 76,298 ล้านบาท
ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการประมูลในวันที่ 19 ธ.ค.2558 พบว่าในวันที่ 21 ธ.ค.2558 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ตามปกตินั้น ราคาหุ้น ADVANC ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 155.50 บาท หรือ 19.43% ส่วนราคาหุ้น TRUE ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 27.75 บาท หรือ 26.97% ด้านราคาหุ้น DTAC ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 6.50 บาท หรือ 8.96%
จากข้อมูลสถิติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการประมูล 5G อาจจะยังไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มสื่อสารมากนัก เพราะยังต้องเป็นปีที่พบกับภาระจากการลงทุน และการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ เป็นเรื่องของแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนว่าจะสามารถประคับประคองผลประกอบการในช่วงดังกล่าวได้หรือไม่