ย้อนรอยข่าวสารดีลดังวงการแบงก์!
ย้อนรอยข่าวสารวงการแบงก์ สู่อนาคตที่(อาจ)ไม่สดใส
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2562 เพื่อมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านกันอีกครั้ง โดยหนึ่งในประเด็นร้อนๆ คงหนีไม่พ้นดีลใหญ่ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปี 2562 ที่ผ่านมามีการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อกิจการ หรือการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ธนาคาร
โดยการควบรวมกิจการที่ถือว่าเป็น “บิ๊กดีลแห่งปี” คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) (“บันทึกข้อตกลง”) กับ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)(TBANK), ING Groep N.V. (“ING”), บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และ The Bank of Nova Scotia (“BNS”) เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารฯ และธนาคารธนชาต เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจธนาคารด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น เมื่อวันที่ 26 ก.พ.62
ต่อมา TMB ได้ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 7 ส.ค. เห็นชอบหลักการสำหรับการดำเนินการเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นของ TBANK โดยจะดำเนินโครงการการรวมกิจการระหว่าง TMB และ TBANK และการรับโอนกิจการทั้งหมดจาก TBANK และรับทราบผลการตรวจสอบกิจการ (Due Diligence) ของธนาคารธนชาต ซึ่งไม่พบประเด็นที่มีผลกระทบต่อโครงการการรวมกิจการอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งเห็นชอบการเข้าซื้อหุ้นของธนาคารธนชาต ภายหลังการปรับโครงสร้างของ TCAP และ TBANK จากผู้ถือหุ้นทุกรายที่ตอบรับคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด
ทั้งนี้ TMB จะเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TBANK 2 ราย ได้แก่ TCAP และ BNS เพื่อซื้อหุ้นของ TBANK รวมทั้งสิ้น 6,062,438,397 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99.96% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หลังจากนั้น TMB จะเสนอซื้อหุ้นของ TBANK ที่เหลือทั้งหมดจำนวน 2,423,773 หุ้น จากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นทุกรายด้วย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.04%
โดยคณะกรรมการ TMB เห็นว่าราคาซื้อหุ้นของ TBANK เป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจากการรวมกิจการในครั้งนี้จะทำให้ขนาดและศักยภาพทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำขนาดใหญ่ของไทย อนึ่ง ภายหลังการรวมกิจการ TMB จะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้าราว 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในอุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ไทย
ขณะเดียวกัน ธนาคารทหารไทยจะได้มาซึ่งบริษัทย่อย 2 แห่งของธนาคารธนชาตจากการทำธุรกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนชาต โบรกเกอร์ ซึ่งธนาคารธนชาต ถืออยู่ 100% และบลจ.ธนชาต ซึ่งธนาคารธนชาต ถืออยู่ 75%
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา TCAP เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทุนธนชาต ครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 ได้พิจารณาเงื่อนไขการทำรายการตามสัญญาที่เกี่ยวข้องและการได้รับอนุญาตจากทางการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่าเงื่อนไขและเรื่องต่าง ๆ ได้บรรลุผลตามข้อตกลงในสัญญาที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงมีมติอนุมัติให้ทำการซื้อขายหุ้นตามที่กล่าวข้างต้นในวันที่ 3 ธ.ค.62 พร้อมทั้งได้พิจารณาราคาซื้อขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ตามเกณฑ์การกำหนดราคา (ทั้งที่เป็นราคาที่แน่นอน และราคาเบื้องต้น หรือ Initial Price) ตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้น
ทั้งนี้ มูลค่าขายเบื้องต้นของหุ้นสามัญของธนาคารธนชาตที่ทุนธนชาตถืออยู่เป็นจำนวนรวมประมาณ 85,160.68 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญของธนาคารธนชาต ที่ขายทั้งสิ้น 3,090,699,234 หุ้น หรือคิดเป็นราคาขายเบื้องต้นของหุ้นสามัญของธนาคารธนชาต หุ้นละ 55 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ธนาคารทหารไทยได้ประกาศราคาเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารธนชาต เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562
ขณะที่มูลค่าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยที่ทุนธนชาตจะซื้อเป็นจำนวนรวมประมาณ 41,850.00 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย ที่ซื้อทั้งสิ้น 19,375,000,000 หุ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ของจานวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนาคารทหารไทย ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดของธนาคารทหารไทย
(โดยไม่รวมจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จัดสรรไว้เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้บริหารและพนักงานของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตภายใต้โครงการ TMB Stock Retention Program) หรือคิดเป็นราคาซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยเท่ากับหุ้นละ 2.16 บาท โดยราคาซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยเป็นราคาที่ธนาคารทหารไทยได้ประกาศราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.62
นอกจากนี้ ทุนธนชาตจะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยในบัญชี “ทุนธนชาตเพื่อเสนอขายต่อ ผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคารธนชาต” เป็นจำนวนรวมประมาณ 82 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยที่ซื้อทั้งสิ้น 15,194,168 หุ้น ในราคาหุ้นละ 2.16 บาท
โดยการควบรวมกิจการดังกล่าวมีการให้ความเห็นในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของความแข็งแกร่งเมื่อรวมทั้ง 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์รายอื่น ซึ่งหนึ่งในความเห็นที่หยิบยกขึ้นมาเป็นของ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า การควบรวมกับธนาคารธนชาต (TBANK) จะช่วยเพิ่ม Synergy ให้กับ TMB โดยใช้จุดเด่นของทั้ง 2 ธนาคาร โดย TMB มีจุดเด่นจากความแข็งแกร่งของฐานเงินฝากดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ TBANK เด่นในการสร้างผลตอบแทนผ่านการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งให้ดอกเบี้ยสูง คาดว่าจะช่วยเพิ่ม NIM ให้ New TMB เพิ่มขึ้น
ดังนั้นเรื่องของความสามารถการทำกำไร และการแข่งขันของแบงก์แห่งใหม่จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะหลังจากที่ควบรวมกิจการแล้วเสร็จจะส่งผลให้แบงก์แห่งนี้มีฐานลูกค้า และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเท่าเทียมกับแบงก์รายใหญ่ของประเทศไทยทันที
ต่อเนื่องไปที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงส่งท้ายปี จากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2562 ได้มีการเข้าเสนอซื้อหุ้นจำนวนทั้งหมด 24,991,429,332 หุ้น ในธนาคารพีทีเพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย จาก Standard Chartered Bank (สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด) และพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค (PT Astra International Tbk) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.12 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของเพอร์มาตา โดยมูลค่าตลาดของ PT Bank Permata อยู่ที่ 2.25 พันล้านเหรียญ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเข้าถือหุ้น 90% หรือราว 6.3 หมื่นล้านบาท
โดยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและแอสทร่าจะขายหุ้นเป็นจำนวนรายละ 12,495,714,666 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.56 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของเพอร์มาตา ให้แก่ธนาคาร ทั้งนี้การซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จได้ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้นอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่ง BBL ระบุว่า การเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ธนาคารคาดว่าจะใช้เงินทุนภายในและแหล่งเงินทุนที่ได้จากการจัดหาเงินทุนตามปกติของธนาคาร โดยในขณะนี้ ธนาคารยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนเพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อหุ้นในครั้งนี้โดยเฉพาะแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ธนาคารจะเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาให้ความเห็นชอบธุรกรรมนี้ภายในเวลาอันสมควรก่อนการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ เมื่อได้รับอนุมัติเห็นชอบและได้รับการอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วนแล้ว ธนาคารคาดว่าจะเข้าทำธุรกรรมให้แล้วเสร็จได้ภายในปี 2563 และคาดว่าจะทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือในเพอร์มาตาอีกร้อยละ 10.88 จากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาเสนอซื้อเดียวกันภายหลังการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ
โดยภายหลังจากการเปิดเผยแผนการเข้าซื้อธนาคารพีทีเพอร์มาตา ทีบีเค ของ BBL ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนักถึง 10 บาท จากความกังวลในแง่ของค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 2,674 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทาง BBL เอง ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า การเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินทุนภายในและแหล่งเงินทุนที่ได้จากการจัดหาเงินทุนตามปกติของธนาคาร โดยจากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า BBL มีกำไรสะสม (ยังไม่ได้จัดสรร) อยู่ถึงจำนวน 180,464.43 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.62 พบว่าในรายการสรุปซื้อขายกระดานรายใหญ่ (Big lot) ภาคเช้าของหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จำนวน 19 รายการ ปริมาณ 600,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 7.44 พันล้านบาท ราคาเฉลี่ย 12.40 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นการทำรายการของ BBL
โดย นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร BBL ได้ออกมาเปิดเผยว่า การขายหุ้น BTS เป็นเพียงการขายทำกำไรปกติ ไม่เกี่ยวกับการดีลเข้าซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ประเทศอินโดนีเชีย ซึ่งเงินที่จะนำไปซื้อกิจการดังกล่าว ธนาคารยืนยันว่ามีเพียงพอ และไม่ต้องเพิ่มทุน
“ยืนยันว่าการขายหุ้น BTS ไม่เกี่ยวกับนำมาใช้เพื่อการนี้ เป็นเพียงการขายทำกำไรปกติ ก็เหมือนกับการที่เราลงทุนไปแล้วพอมีกำไรเราก็ขายออกมาเรื่อยๆ ขณะที่เมื่อหุ้นปรับตัวลง เราก็เข้าซื้อปกติ” นายเดชากล่าว
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า BBL เข้าถือหุ้น BTS ที่ราคาต้นทุนประมาณ 3-4 บาท ซึ่งราคาขายบิ๊กล็อตอยู่ที่ระดับ 12.40 บาท ดังนั้นในเบื้องต้นจึงคำนวณได้ว่า BBL จะได้รับกำไรส่วนต่างราคาหุ้น BTS ในพอร์ตลงทุนได้สูงถึงหุ้นละ 8.40 – 9.40 บาท และถ้าหาก BBL มีการขายหุ้น BTS ที่ถืออยู่ทั้งหมด 545,466,733 หุ้น เท่ากับว่าจะได้รับกำไรทั้งหมดจากการลงทุนในหุ้น BTS ถึง 4.58 พันล้านบาท – 5.13 พันล้านบาท (คำนวณในช่วงราคาต้นทุนช่วง 3 – 4 บาท)
โดยกรณีที่ BBL ทำการขายหุ้น BTS ออกมานั้น ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากคาดว่า BBL อาจนำเงินที่ได้ไปใช้ในการเข้าซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค ถึงแม้ทาง BBL จะออกมาปฏิเสธว่าการขายหุ้น BTS นั้น เป็นเพียงการขายทำกำไรธรรมดาไม่เกี่ยวกับดีลซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ BBL ได้เปิดเผยว่า ยังมีพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นทั้งหมด 48 หลักทรัพย์ และหากมีโอกาสก็จะทยอยขายหุ้นทำกำไรออกมาด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ผู้สื่อข่าว” พบว่า BBL เองมีการเข้าลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง อาทิ
1 ) บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จำนวน 719,974,432 หุ้น หรือคิดเป็น 8.41%
2 ) บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS จำนวน 50,331,900 หุ้น หรือคิดเป็น 4.96%
3 ) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL จำนวน 270,905,264 หุ้น หรือคิดเป็น 4.83%
4 ) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จำนวน 545,466,733 หุ้น หรือคิดเป็น 4.34%
5 ) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 47,500,000 หรือคิดเป็น 2.23%
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องจับตาหลังจากนี้เป็นเรื่องการขายหุ้นของทาง BBL ซึ่งอาจจะขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาอีกครั้ง และยังต้องจับตาเกี่ยวกับการขยายธุรกิจสู่อินโดนีเซียว่าจะสร้างผลตอบแทนให้กับ BBL ได้คุ้มค่ากับการเข้าลงทุนในครั้งนี้หรือไม่
อนาคตที่(อาจ)ไม่สดใส
เมื่อพูดถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ดูเหมือนจะยังไม่ใช่ปีที่ง่ายนัก หลังจากที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ยังขยายตัวในกรอบต่ำ ยังคงเป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
โดยภาพรวมสินเชื่อปี 2563 อาจเติบโตเพียง 3.5% (ใกล้เคียงกับปี 2562) โดยคาดหวังการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อธุรกิจที่ 2.0% ตามแรงหนุนจากบรรยากาศการลงทุน อย่างไรก็ดี สัญญาณอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศและตลาดส่งออก ตลอดจนแรงกดดันด้านต้นทุนและความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อาจทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2563 ยังเติบโตเพียง 1.0% ซึ่งแม้จะเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำของปี 2562 ที่คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ 1.8%
ส่วนทิศทางสินเชื่อรายย่อยนั้น อาจชะลอการเติบโตลงมาที่ 6.3% เนื่องจากพอร์ตหลักอย่างสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เร่งตัวไปมากแล้วในปี 2562 ประกอบกับภาระหนี้ที่สูงจะเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้ก้อนใหม่ในผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ NIM มีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งจากสินเชื่อที่เติบโตในกรอบต่ำ และความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อจะได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมหากอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงอีกในปี 2563 โดยคาดว่า NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563 จะชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 2.70-2.80% (จากคาดการณ์ที่ 2.82% ในปี 2562)
โดย NIM อาจอยู่ใกล้เคียงกรอบด้านต่ำ หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียงขาเดียว หรือปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ร่วมกับการลดดอกเบี้ยเงินฝากเพียงบางผลิตภัณฑ์ เช่น เงินฝากประจำระยะยาว ทั้งนี้ ประเมินว่า หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% เพียงอย่างเดียว จะมีผลกระทบต่อ NIM ประมาณ 0.8-0.9%
นอกจากนี้ สิ่งที่ตอกย้ำในเรื่องของผลการดำเนินงานในปี 2563 ที่อาจไม่สดใสนักได้เป็นอย่างดี คือการที่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้ออกมาเปิดเผยเป้าหมายทางการเงินสำหรับปี 2563 โดยการเติบโตของสินเชื่อปีหน้าจะเติบโต 4-6%
ขณะที่ NPL ratio ก็เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4% จากเดิมที่มองไว้ 3.3-3.7% ทำให้ตลาดเป็น Downside และนักวิเคราะห์ฯต่างก็จะเริ่มทยอยปรับลดประมาณการผลประกอบการของ KBANK กันด้วย ดังนั้น จึงได้เห็นแรงกระแทกออกมาในวันนี้ ถือเป็นแรงกดดันที่กดราคาหุ้นในวันนั้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปิดที่ระดับ 138 บาท ลบ 11 บาท หรือ 7.38%
นอกจากนี้ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่าผลการดำเนินงานของบจ.ในกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยเริ่มจาก ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5.6 พันล้านบาท ลดลง 43.36% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 9.9 พันล้านบาท
ตามด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 2.18 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.27% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.23 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 2.99 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.78% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3.14 หมื่นล้านบาท
ส่วน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 4.31 พันล้านบาท ลดลง 6.64% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4.61 พันล้านบาท
ด้าน บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 6.39 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.75% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5.82 พันล้านบาท
สำหรับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 2.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.15% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.72 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 3.49 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.90% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม2561 มีกำไรสุทธิ 728.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 537.38 ล้านบาท
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินดำเนินงานงวด 9 เดือน ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 2.63 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.68% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.87 หมื่นล้านบาท
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารปี 2562 ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่สู้ดีนัก ขณะที่ในปี 2563 ซึ่งประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจจะส่งผลให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นหุ้นอีกกลุ่มที่ผลการดำเนินงานจะยังไม่สดใสนัก