“คลัง-ธปท.” วางกรอบเงินเฟ้อปี 63 ที่ 1-3% หวังเพิ่มความยืดหยุ่นรับมือ ศก.โลกผันผวน
“กระทรวงการคลัง-ธนาคารแห่งประเทศไทย” วางกรอบเงินเฟ้อปี 63 ที่ 1-3% เพิ่มความยืดหยุ่นภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 แบบยืดหยุ่นในช่วง 1-3% จากเดิมปี 62 อยู่ในกรอบ 2.5% บวก/ลบ 1.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และเพิ่มความยืดหยุ่นภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน
พร้อมกันนั้น ยังกำหนดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี เนื่องจาก ธปท.มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปมีโอกาสผันผวนได้จากราคาพลังงาน ราคาอาหารสด และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า โดยจะมีการติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด หากอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายที่ 1-3% จะมีการชี้แจงให้ รมว.คลัง ทราบถึงสาเหตุและมาตรการที่จะดำเนินการให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะร่วมกันหารือเพื่อติดตามและประเมินกรอบเป้าหมายต่างๆอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อให้ดำเนินการนโยบายการเงินการและนโยบายการคลังสอดประสานกันได้เมื่อมีเหตุจำเป็น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังได้สั่งการให้ ธปท. กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย. นางนฤมล กล่าว
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้กรอบอัตราเงินเฟ้อใหม่จะอยู่ที่ 1-3% แต่ในประมาณการอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย หรืออยู่ที่ไม่ถึง 1% ซึ่งการจะบอกว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เมื่อใดนั้น อยากให้มองระยะยาว 5 ปี แต่ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะเข้ากรอบเป้าหมายล่างที่ 1% ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และราคาอาหารสด ดังนั้น การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้านานๆ อาจมีความไม่แน่นอน
สำหรับการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้แบบช่วงไม่มีค่ากลางเหมือนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ตาม ไทยไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (QE) จากรณีเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่ประเทศอื่นๆที่เคยใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 51-52 ก็เริ่มที่จะปรับลดขนาดของมาตรการลง ขณะที่ไทยปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือเฟือ
ส่วนกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทนั้น ยอมรับว่ามีการพูดคุยระดับหนึ่ง ซึ่งการดูแลค่าเงินต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน และเป็นเรื่องที่ ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าในระยะต่อไปค่าเงินบาทเคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นกังวลในเรื่องค่าเงิน โดยพร้อมดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อไป