“ไทย” เล็งเพิ่มมูลค่าการค้าบังกลาเทศเป็น 2 พันล้านเหรียญ จ่อเซ็น FTA ยกเลิกภาษีนำเข้า
"ไทย" เล็งเพิ่มมูลค่าการค้าบังกลาเทศเป็น 2 พันล้านเหรียญ จ่อเซ็น FTA ยกเลิกภาษีนำเข้า หลังประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) 8-9 ม.ค.63
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค.63 ที่กรุงเทพมหานคร
โดยสาระสำคัญที่ฝ่ายไทยจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ คือ
- การค้าและการลงทุน โดยหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงการขจัดอุปสรรคทางการค้าของทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564
- ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ โดยให้ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนผลการศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างกัน
- การให้สิทธิพิเศษในการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้า (DFQF) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างดำเนินการต่ออายุโครงการ DFQF ที่จะหมดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะมีการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งไทยจะนำสินค้าที่บังกลาเทศร้องขอเพิ่มเติมมาพิจารณาด้วย
- ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับบังกลาเทศในด้านต่างๆ ได้แก่
– ด้านอุตสาหกรรม พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรับรองระบบงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและบังกลาเทศ โดยไทยขอทราบขอบเขตความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวจากบังกลาเทศ
– ด้านเกษตร ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านเกษตรระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
– ด้านการประมงและปศุสัตว์ พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านการประมงและปศุสัตว์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและบังกลาเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีการประมงกับบังกลาเทศ โดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
– ด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยขอให้บังกลาเทศส่งรายละเอียดความร่วมมือที่บังกลาเทศสนใจให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาต่อไป
– การเชื่อมโยงทางคมนาคม สนับสนุนความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองของไทยและท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ
ทั้งนี้ น.ส.รัชดา กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ คือ 1.จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2564 2. ขยายโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศอย่างเป็นรูปธรรม และ 3. ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปยังประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) เนื่องจากบังกลาเทศมีศักยภาพในการเป็นประตูทางการค้ากับประเทศสมาชิก OIC 57 ประเทศ