ปิดฉาก “7 วันอันตราย” เสียชีวิต 373 ราย เจ็บ 3,499 คน เมาแล้วขับครองแชมป์อุบัติเหตุ!

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แถลงปิดฉาก “7 วันอันตราย” ปีใหม่ 63 เสียชีวิต 373 ราย เจ็บ 3,499 คน เมาแล้วขับครองแชมป์อุบัติเหตุ!


นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน(ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 2 ม.ค.63 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 354 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 359 คน

โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 30.23% ตัดหน้ากระชั้นชิด 23.73%  ซึ่งยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 82.97%  ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 61.30% ถนนกรมทางหลวง 42.94% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 29.66%  และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. 28.53%

ทั้งนี้ ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.62 ถึงวันที่ 2 ม.ค.63 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,421 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 373 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,499 คน  จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด พะเยา แม่ฮ่องสอน ยะลา ลำพูน และสตูล  จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา 116 ครั้ง  จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 15 ราย  และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ สงขลา 121 คน  ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ดื่มแล้วขับ รองลงมาขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย

โดยยอดรวมปริมาณคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศของกลุ่มศาลอาญา , กลุ่มศาลจังหวัด , กลุ่มศาลแขวง ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2563 ซึ่งรวบรวมข้อมูลสถิติโดยศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม มีจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณารวมทั้งสิ้น 25,376 คดี พิพากษาเสร็จทั้งสิ้น 24,986 คดี คิดเป็น 98.46%

จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.นครราชสีมา 1,140 คดี 2.กรุงเทพมหานคร 1,124 คดี 3.ชลบุรี 997 คดี 4.เชียงใหม่ 982 คดี และ 5.ร้อยเอ็ด 870 คดี สำหรับข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ขับรถขณะเมาสุรา 23,723 คน 2.ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 3,879 คน 3.ขับรถขณะเสพยาเสพติด 344 คน

ส่วนสถิติความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับรวมทั้งสิ้น 358 คำร้อง โดยข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ 1.ขับรถขณะเมาสุรา 284 ข้อหา 2.ขับรถขณะเสพยาเสพติด 63 ข้อหา 3.ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) ได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำชับให้จังหวัดถอดบทเรียนและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

รวมทั้งค้นหาปัญหา อุปสรรค และปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง คือ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วและการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ศปถ.จะได้ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป

 

Back to top button