“สนพ.” คาดแนวโน้มใช้พลังงาน ปี 63 เพิ่ม 1.8% รับ ศก.ฟื้นตัวหลังมาตรการรัฐหนุนลงทุน

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) คาดการณ์การใช้พลังงานปี 63 เพิ่มขึ้น 1.8% หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น-รัฐหนุนการลงทุน


นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2563 โดยคาดว่าเพิ่มขึ้น 1.8% จากการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน ถ่านหิน/ลิกไนต์ พลังงานทดแทน ไฟฟ้านำเข้า และก๊าซธรรมชาติ  ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของ ปี 2563 เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ

รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้คงต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นถึง 6% จากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 65.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 69.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในวันที่ 6 มกราคม 2563  ซึ่ง สนพ. จะคอยติดตามและประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ คาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง มาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)  มองว่าในปี 2563 จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.7 – 3.7% จากแรงส่งของแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศ

ทั้งในแง่ของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน , การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้าๆของการส่งออก ภายใต้การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้าๆของเศรษฐกิจโลก  การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว

สำหรับอัตราการแลกเปลี่ยนในปี 2563 จะมีค่าใกล้เคียงกับปีก่อน ในช่วง 30.5 – 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบก่อนเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน  สภาพัฒน์ และหลายๆสำนัก มองว่าจะไม่แตกต่างจากราคาน้ำมันดิบในปีนี้มากนัก เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้บริโภค เช่น สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น

ส่วนภาพรวมของการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศในปี 2562 เพิ่มขึ้น 0.7% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศ ที่สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณ 2.6% ตามการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคของเอกชน และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 62 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ขณะเดียวกันการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของปี 2562 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.1% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาคขนส่ง การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ถ่านหินและลิกไนต์ลดลงจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในภาคขนส่งลดลงอย่างมากถึง 11% เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน

สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิง ปี 2562 สรุปได้ดังนี้ การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีการใช้เพิ่มขึ้น 1.6% โดยน้ำมันเบนซิน และดีเซล เพิ่มขึ้น ประมาณ 4% จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ขณะที่น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก

ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะภาคครัวเรือน คาดว่าเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการใช้เตาไฟฟ้าและเตาไมโครเวฟเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดขายเตาไมโครเวฟที่เพิ่มขึ้นถึง 14% และภาคขนส่งลดลงจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทนเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

ส่วนการใช้ไฟฟ้า ในปี 2562 มีอัตราเพิ่มขึ้น 3.8% เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปีก่อน อีกทั้งมีอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนประมาณ 1-2 องศา ส่งผลให้มีการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ และเครื่องปรับอากาศทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขการใช้ไฟฟ้า ปี 2562 อยู่ที่ 194,949 ล้านหน่วย

โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.27 น. อยู่ที่ระดับ 37,312 เมกะวัตต์  (MW) เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) อยู่ที่ระดับ 32,273 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 7.7%

ทั้งนี้ ในปี 2562 มูลค่าการนำเข้าพลังงาน และการส่งออกพลังงานลดลง 14% และ 32% ตามลำดับ โดยมูลค่าการนำเข้าพลังงานคิดเป็น 1,053 พันล้านบาท ซึ่งลดลงตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากการนำเข้าพลังงานส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 61% ขณะที่การส่งออกพลังงาน อยู่ที่ 194 พันล้านบาท ลดลง 32% ตามการลดลงของการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าต่อการใช้พลังงาน คิดเป็น 67%

Back to top button