“ธปท.” ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อุ้ม SME หวังลดภาระดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม

“ธนาคารแห่งประเทศไทย" เสนอมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(7 ม.ค.63) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือ SME ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยออกมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้และให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ SME (SME Loan Restructuring)  ได้แก่

  1. การปรับปรุงเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.63-31 ธ.ค.64 แบ่งเป็น

1.1 มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน สำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL โดยการลดดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ไม่เป็น TDR (Troubled Debt Restructuring) ไม่ติดเครดิตบูโรใน NCB และจัดชั้นเป็นลูกหนี้ปกติ

1.2 มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน โดยไม่ต้องรอถึง 12 เดือน

1.3 มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงิน (สง.) / สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน สามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

1.4 มาตรการเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงิน (สง.) ไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ ไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้ (กันเฉพาะส่วนที่เบิกใช้แล้ว)

1.5 ให้สถาบันการเงิน (สง.) รายงานเป้าสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้ SME เป็นรายเดือนภายใน 21 วัน นับจากวันสิ้นเดือน เริ่มตั้งแต่งวดสิ้นเดือน ม.ค.63-ธ.ค.64

  1. บทบาทของสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินของรัฐ ในการปรับโครงสร้างหนี้

2.1 สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็น NPLs (pre-emptive)

2.2 ให้สถาบันการเงินพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ให้ยาวสอดคล้องกับความสามารถการชำระหนี้ รวมถึงพิจารณาดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา

2.3 ปรับปรุงการคำนวณ/ยกเว้น ค่าผิดนัดชำระสินเชื่อ (Penalty charges)

2.4 ให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ปัจจุบันใช้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งมีดอกเบี้ยสูง

2.5. ร่วมกับ ธปท. เพื่อกำหนดกรอบการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย

  1. มาตรการช่วยหลือลูกหนี้บัตรเครคิตที่จ่ายดอกเบี้ยสูง ให้เปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิต เป็น term loan ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงได้โดยไม่ต้องยกเลิกบัตร (วงเงินรวมเท่าเดิม)
  2. การปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรม วันนี้ ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชนและ SME และปรับปรุงให้การดำเนินการเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น ได้แก่

4.1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ซึ่งเดิมผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้ง ให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน ความสำคัญของเรื่องนี้คือ ค่าปรับที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดและช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบ รวมทั้งทำให้ตลาด refinancing เกิดขึ้นในประเทศไทย

ตัวอย่าง กู้สินเชื่อ SME 10 ล้านบาท เวลา 10 ปี ชำระแล้ว 3 ล้านบาท ยอดหนี้คงเหลือ 7 ล้านบาท เดิม บางแห่งคำนวณจากยอดวงเงินกู้ทั้งก้อน แต่แบบใหม่ให้สถาบันการเงิน กำหนดช่วงที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด และคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ

กรณีที่ 1 ปิดหนี้ก่อนครบกำหนด ร ปีที่ 3 ชำระแล้ว 3 ล้านบาท เหลือ 7 ล้านบาท คำนวณค่าปรับจากยอดเงินต้นคงเหลือที่ 7 ล้านบาท

กรณีที่ 2 ปิดหนี้ก่อนครบกำหนด ณ ปีที่ 7 ยกเว้นค่าปรับไถ่ถอนก่อนครบกำหนด

4.2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ขอให้ผู้ให้บริการพิจารณาปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร

ตัวอย่าง กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ยกู้ 8% ต่อปี ค่างวดเดือนละ 42,000 บาท ชำระแล้ว 24 งวด ลูกหนี้ค้างชำระงวดที่ 25 เดิม คำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด

แบบใหม่ ต้องมีช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period), คำนวณจากค่างวดค้างชำระส่วนที่เป็นเงินต้น, ลูกหนี้เดิม ให้พิจารณาปรับลด/ยกเว้นค่าปรับตามสมควร

นอกจากนี้ให้สถาบันการเงิน กำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน

ซึ่งการปรับปรุงในครั้งนี้นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (affordability risk)

และ 4.3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี  เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

 

 

Back to top button