RATCH-NNCL-ALT-มธ. ผุดโปรเจคปั้นสมาร์ทซิตี้ “รังสิต-นวนคร” คาดสรุปต้นแบบกลางปีนี้
RATCH-NNCL-ALT-มธ. ผุดโปรเจคยักษ์ปั้นสมาร์ทซิตี้ "รังสิต-นวนคร" คาดสรุปต้นแบบกลางปีนี้
นายจตุพร โสภารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บริษัทนวนคร (มหาชน) หรือ NNCL และบริษัท เอแอลที เทเลคอม (มหาชน) หรือ ALT เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ (Thammasat-Nava Nakorn Smart City) คาดว่าจะสรุปต้นแบบได้ในช่วงกลางปี 63
โดยหลังจากสรุปรูปแบบลงทุนสมาร์ทซิตี้แล้ว จะมีการประเมินโครงการลงทุน และงบลงทุนต่อไป เบื้องต้นการพัฒนาระบบสมาร์ทซิตี้ จะก่อเกิดประโยชน์การประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหากโครงการต้นแบบสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
ทั้งนี้ RATCH ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่ เพิ่มขึ้นเป็น 10-20% ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดังกล่าวน้อยมาก โดยขณะนี้บริษัทได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ,มอเตอร์เวย์ ,ระบบน้ำปะปา และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ พร้อมทั้งยังศึกษาโครงการลงทุนธุรกิจดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในเครือทั้ง RATCH และบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านนวัตกรรม หลังจากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟผ.เมื่อปลายเดือน ธ.ค.62 และอยู่ระหว่างจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทพิจารณาภายในเดือน ม.ค. โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าว กฟผ.ถือหุ้น 40% RATCH ถือหุ้น 30% และ EGCO ถือหุ้น 30% คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในไตรมาส 1/63
ด้านนายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NNCL กล่าวว่า โครงการ Thammasat-Nava Nakorn Smart City ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ในระดับชุมชนเมือง ภายใต้เงื่อนไขและแผนพัฒนาที่สอดคล้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Thailand Smart City) ภายใต้การศึกษาความเป็นไปได้ในองค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Environment, Smart Governance, Smart People และ Smart Living