“วิปฝ่ายค้าน” ยื้อถก พ.ร.บ.งบฯ 63 ต่อสัปดาห์หน้า ฟาก “ชวน” หวังจบประชุมวันนี้

“วิปฝ่ายค้าน” ยื้อถก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563 ต่อสัปดาห์หน้า ฟาก "ชวน" ชี้หากอภิปรายเนื้อมากกว่า ก็สามารถจบในวันนี้


นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ค.2563 วาระ 2 จะไม่แล้วเสร็จภายในเวลา 15.00 น.ของวันนี้ อย่างแน่นอน เพราะยังเหลือการพิจารณาอีกหลายมาตรา แม้ว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือกับการอภิปรายด้วยการลดจำนวนผู้อภิปรายลงแล้ว

ดังนั้น เบื้องต้นวิปฝ่ายค้านประสานกับวิปรัฐบาลให้มีการขยายวันในการพิจารณา หรือให้มีการลงมติวาระ 3 ในสัปดาห์หน้า ช่วงวันที่ 15 ม.ค. เพราะสภาฯ ยังมีกรอบเวลาที่สามารถพิจารณาได้จนถึงวันที่ 19 ม.ค.นี้ และเพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้เดินทางกลับไปยังพื้นที่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้เพื่อร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ

ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมแสดงตนในการนับองค์ประชุมเมื่อคืนนี้นั้น นายสุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจให้การประชุมสภาฯ ล่ม แต่ปัญหาที่เกิดนั้นมาจากการสื่อสารของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ทำให้เข้าใจว่าจะยุติการอภิปรายและพักการประชุมแล้ว

“การประชุมวันนี้ พรรคฝ่ายค้านยืนยันจะให้ความร่วมมือ ทั้งไม่ตีรวน ด้วยการเสนอนับองค์ประชุม แต่ใจผมอยากให้ต่อสัปดาห์หน้า เพราะอยากให้การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีคุณภาพมากกว่าเร่งรัดหรือรวบรัดกัน” นายสุทิน กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การจะเลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปต่อในสัปดาห์หน้านั้น เป็นเรื่องที่วิปทั้ง 2 ฝ่ายต้องหารือกัน ซึ่งเชื่อว่าคงได้หารือกันไปแล้ว อะไรที่ตกลงกันแล้วก็ควรจะเดินไปตามนั้น สภาฯจะได้เดินต่อไปได้ และเท่าที่ทราบก็พยายามที่จะให้พิจารณาให้เสร็จภายในวันนี้

ทั้งนี้ งบประมาณถือว่ามีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ หากดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้และพิจารณาได้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะจะได้นำงบประมาณไปขับเคลื่อนประเทศต่อไป ซึ่งแม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะผ่านสภาฯ ตามกรอบเวลา แต่กว่าจะเบิกจ่ายได้ก็ประมาณเดือน มี.ค.63 ที่เม็ดเงินจะลงไปสู่ระบบต่างๆ ได้ ดังนั้น หากทำได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ รัฐบาลก็จะสามารถขับเคลื่อนและแก้ปัญหาให้กับประเทศได้มาก ซึ่งหวังว่าวิปทั้ง 2 ฝ่ายจะพูดคุยและหาข้อยุติกันได้

ส่วนหากมีการยื้อการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ออกไป ทางรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับการเบิกจ่ายที่อาจจะต้องล่าช้าออกไปอย่างไรนั้น นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หากการพิจารณาล่าช้าก็จะมีผลกระทบกับการดำเนินงานที่รัฐบาลวางแผนเอาไว้ แต่รัฐบาลก็มีแผนรองรับไว้อยู่แล้ว รอเพียงการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เท่านั้น เพื่อจะได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของฝ่ายบริหารไม่อยากเห็นการยืดเวลาการพิจารณาออกไป เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ อีกทั้งเศรษฐกิจแบบนี้ ต้องการการทำงานที่ต่อเนื่องและรวดเร็ว เนื่องจากขณะนี้ก็ถือว่าล่าช้าอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ล่าช้าออกไปอีก และยังหวังว่าฝ่ายค้านคงจะไม่ยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระให้ตรวจสอบ ส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะไม่เป็นประโยชน์ใดๆเลย

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ในวาระ 2 และวาระ 3 ว่าจะพยายามให้จบภายในวันนี้ (10 ม.ค.) แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกว่าจะให้ความร่วมมือกันเพียงใด ซึ่งตนคงไม่สามารถไปบังคับได้ พร้อมแสดงความเห็นใจผู้คุมเสียงทั้ง 2 ฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายก็ไม่สามารถไปคุมเสียงในแต่ละพรรคได้ จะเห็นว่าบางพรรคร่วมมือ และบางพรรคก็ไม่ร่วมมือ

“คงไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนเมื่อคืนวานนี้ เพราะผมถามว่าจะเลื่อนไปสัปดาห์หน้าจริงๆหรือ เขาก็ตอบว่าพูดเล่น ซึ่งปกติเขาจะไม่ทำกัน ตามปกติการพิจารณางบประมาณถ้ายังไม่เสร็จ ภายใน 3 วัน ก็สามารถต่อวันที่ 4 ได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะไม่เลื่อนไปสัปดาห์อื่นๆ เพราะจะมีปัญหากับทั้ง 2 ฝ่ายเอง” นายชวน กล่าว

ส่วนกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคราม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้ออกมาระบุว่าหากพิจารณาเสร็จภายในวันนี้จะได้เนื้อหาไม่ครบถ้วนนั้น นายชวน กล่าวว่า อยู่ที่การสรุปเรื่อง เพราะบางทีการพูด 1 ชั่วโมงกับพูด 10 นาที ก็ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อและน้ำที่อภิปราย ซึ่งปกติขั้นการแปรญัตติกรรมาธิการฯจะให้เหตุผลในการตัดงบประมาณมากกว่าที่จะมาอภิปรายหลักการแบบวาระแรก

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ยังไม่ยืนยันว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปีฯ นี้จะขยายไปถึงสัปดาห์หน้า (15-16 ม.ค.)หรือไม่ ซึ่งหากขยายไปก็กังวลว่าจะเกินกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 105 วัน แต่ย้ำว่าในวันนี้จะพยายามพิจารณาให้ได้มากที่สุด

Back to top button