“ครม.” มีมติเร่งรัดใช้งบประมาณปี 63 คาดไตรมาส 2 เม็ดเงินเข้าระบบ ศก. 1 ล้านล้านบาท

“ครม.” มีมติเห็นมาตรการเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณปี 63-ก่อหนี้ผูกพัน คาดสิ้นไตรมาส 2 มีเม็ดเงินเข้าระบบ ศก. 1 ล้านล้านบาท


นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบรายจ่าย ปีงบประมาณ 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้งบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้ออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับเป้าหมายในการเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณ ปี 63 หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วนั้น ได้มีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายสำหรับการใช้งบประมาณในไตรมาส 2 ของปีงบ 63 โดยภาพรวมตั้งเป้าหมายให้มีการใช้จ่ายที่ 54% ของงบรายจ่ายรวมทั้งหมด ซึ่งเมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปีงบ 63 จะมีเม็ดเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย งบรายจ่ายประจำ 7.7 แสนล้านบาท และอีกราว 2.2 แสนล้านบาท เป็นงบรายจ่ายลงทุน

“สำนักงบประมาณ จะแจ้งแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการการใช้จ่ายงบประมาณ การอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณแผ่นดิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

นางนฤมล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบให้มีการเร่งรัดให้หน่วยงานที่จะรับงบประมาณ ใช้จ่ายงบหรือก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคนั้น ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งดำเนินการจัดสรรไปยังส่วนภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น การก่อหนี้ผูกพันข้ามปี การลงทุนในโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน โดยให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคา ประกอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งเห็นชอบให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อการเบิกจ่ายในเดือน ก.ย.63 โดยเฉพาะรายการที่เป็นโครงการเพียงปีเดียว สำหรับรายการผูกพันใหม่ ขอให้จบภายใน พ.ค.63

พร้อมกันนี้ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันทีภายหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าเมื่อถึงไตรมาส 4 ของปีงบ 63 จะต้องมีการใช้งบรายจ่ายประจำครบ 100% และงบรายจ่ายลงทุน 100% เช่นกัน

Back to top button