“พาณิชย์” ชี้มาตรการรัฐ-เศรษฐกิจไทยหนุนตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว หลังมาตรการรัฐช่วยกระตุ้น บวกปัจจัยภายนอกปรับตัวดีขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงประเด็นผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า เป็นข้อมูลข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของภาครัฐเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดต่อข้อกังวลของภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำการสำรวจความเชื่อมั่นในลักษณะเดียวกันเจาะกลุ่มผู้บริโภคใน 7 สาขาอาชีพ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ประจำเดือนธันวาคม 2562 พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 44.5 คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 39.0 เป็น 39.4 และดัชนีอนาคตอยู่ที่ระดับ 48.0 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยแล้วพบว่ามีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวต่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในระดับเชื่อมั่นสูงกว่า 50 (ระดับ 52.8) สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่าดัชนีในอนาคตในเดือน ธ.ค.ยังอยู่ในระดับเชื่อมั่นที่ 52.0 และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 54.4 ชี้ว่าในภาพรวมปี 62 ผู้บริโภคทั่วไปยังมีความคาดหวังและมีมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีในระยะต่อไป และเชื่อว่าความผันผวนจากปัจจัยภายนอกน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น
สำหรับประเด็นด้านการค้าอื่นๆ ที่มีผู้แสดงความกังวล เช่น การส่งออก, การถูกระงับสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) และสงครามการค้านั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการดูแลอย่างใกล้ชิดและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เร่งทำยอดส่งออก นำคณะไปขยายตลาดและการจัดกิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศในตลาดศักยภาพ ได้แก่ จีน อินเดีย (มุมไบ/เจนไน) ตุรกี และเยอรมนี โดยมีผลสำเร็จคือการลงนาม MOU และการจัดกิจกรรมทางการค้าเมื่อปลายปี 62 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและเร่งรัดการส่งมอบ เพื่อผลักดันการส่งมอบในเดือน ม.ค.-ก.พ.63
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนผลักดันการส่งออกปี 63 โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้ารวมกว่า 18 ประเทศ ได้แก่ ตลาดเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังคลาเทศ แอฟริกาใต้ ตลาดฟื้นฟู เช่น ตะวันออกกลาง ตลาดอาเซียน และ CLMV เช่น กัมพูชา สำหรับประเทศใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย จะต้องเจาะตลาดลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐมากขึ้น โดยในแต่ละตลาดจะมีสินค้าเป้าหมายที่ต่างกัน
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติสินค้าส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 62 สนค. พบว่าสินค้าสำคัญประมาณ 6.2% ของการส่งออกรวม ทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร (ไก่แปรรูป เครื่องดื่ม) สินค้าอุตสาหกรรม (นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์) และสินค้าไลฟ์สไตล์ (เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัวและของใช้ในบ้านเรือน) จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 63 ช่วยพยุงการส่งออกภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัว สามารถต่อยอดผลักดันการส่งออกของไทยได้ ซึ่งขณะนี้ สนค.อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดเชิงลึกต่อไป