“ดร.โกร่ง” ฟันธงศก.ไทยปี 63 เผาจริง! ชี้ชาวโลกร้องยี้เจอรบ.ทหาร-คู่ค้าเมินทำฟื้นยาก
“ดร.โกร่ง” ฟันธงศก.ไทยปี 63 เผาจริง! ชี้ชาวโลกร้องยี้เจอรบ.ทหาร-คู่ค้าเมินทำฟื้นยาก
ผู้สื่อข่าวรายงาน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เปิดเผยผ่านการให้สัมภาษณ์กับ “วอยซ์ออนไลน์” ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะซบเซาต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงขาลง
“การส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัว ก็มีสาเหตุหลักมาจากอัตราแลกเปลี่ยนของเราแข็งกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทของเราเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562 แข็งค่าที่สุดในโลก มันเป็นไปได้ยังไง แสดงว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีสติปัญญา ไม่มีความสามารถพอจะบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันผู้ส่งออกของเรา ไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งคู่ค้าได้” ดร.วีรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจซบเซา ส่งออกหดตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรทั้งราคาข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม อ้อย และน้ำตาล ปรับตัวลดลง เป็นเหตุให้แรงซื้อหรืออำนาจซื้อของประชาชนในประเทศหดหายตาม
ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า การที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เดินเครื่องจักรเพียงร้อยละ 60 ของกำลังการผลิต ทำให้ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่ม เพราะเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมยังใช้ไม่เต็มที่
เป็นอาการ ‘เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยติดล็อก’ ทั้งการลงทุน การบริโภคของคนภายในประเทศ การส่งออก ต่างซบเซาหมด ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลจากนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ความผิดพลาดของนโยบายการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพียงพอ นโยบายการส่งเสริมการส่งออกที่ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่ประจักษ์ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนการส่งออกหดตัว ขณะที่การนำเข้าหดตัวมากกว่าการส่งออกจึงทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล
“ปกติดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้าเกินดุล จะเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง แต่อันนี้เศรษฐกิจซบเซา เงินบาทแข็งค่าเพราะไม่ได้มีการจัดการให้เรียบร้อย ที่สำคัญการอธิบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ของรัฐมนตรีคลัง ของรองนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ไม่เข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจ และภาวะเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทย เมื่อไม่เข้าใจแล้ว จะไปแก้ไขได้อย่างไร อันแรกต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เหตุและผลมันเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าปี 2563 นี้ ภาวะเศรษฐกิจจะหนักหนายิ่งกว่าปี 2562 เสียอีกเพราะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องและยังไม่เห็นสัญญาณว่าตัวไหนจะฟื้น” ดร.วีรพงษ์ กล่าว
ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์นี้รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ แต่ทำให้เศรษฐกิจพังได้ แล้วเมื่อเศรษฐกิจพัง ภาครัฐที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของจีดีพี ผ่านรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของจีดีพี มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว
ส่วนสถานการณ์นี้จะยาวหรือไม่ ขึ้นกับ 2 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโลก ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าจะฟื้นตัวช้า หรือเร็ว และนโยบายภายในประเทศ
โดยในส่วนของเศรษฐกิจโลก คาดว่าคงไม่ฟื้นตัวง่าย แล้วราคาข้าว ยาง สินค้าเกษตรต่างๆ ก็เป็นไปตามวัฏจักร ที่ต้องใช้เวลาอีกสัก 5 ปีถึงจะดีขึ้น
“การที่มีรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เวลาไปเจรจาการค้าหรือเชื้อเชิญใครเข้ามาลงทุน ก็ทำให้เขาก็ไม่อยากร่วมลงทุน เพราะนายกฯมียศนายพล ไม่มีใครเขาพูดด้วย ในโลกนี้มีแบบนี้ไม่กี่ประเทศ มันเป็นระบบการปกครองที่ล้าสมัย ล้าหลังแล้ว ดังนั้นผมคิดว่า 5 ปีที่อยู่นี้ รัฐบาลอาจอยู่ได้ แต่เศรษฐกิจของประเทศอาจจะอยู่ไม่ได้” ดร.วีรพงษ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ดร.วีรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ความหวังของประเทศไทยแทบไม่มีเลย ประชาชนจะไม่มีทางทำมาหากินได้ ถ้ารัฐบาลยังเป็นอยู่อย่างนี้ หรือมีวิธีคิดแบบทหารอย่างนี้โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นก็คงจะยาก หรือคงไม่มี เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารความคิดความอ่านจะไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาธิปไตย ซึ่งจะมีรัฐมนตรีมาจากภาคธุรกิจ มาจากคนที่ใกล้ชิดกับประชาชน ที่มีความคิดความอ่านในการรื้อฟื้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ดร.วีรพงษ์ กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจในอดีตว่า ทุกครั้งที่มีความรุนแรงทางการเมือง มีประชาชนลงถนนประท้วง ล้วนเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งสิ้น โดยครั้งแรกเกิดขึ้นหลังวิกฤตน้ำมัน สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเหตุการณ์ Black Monday เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น
ครั้งที่ 2 น้ำมันขึ้นราคา สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ซัพพลายหรือปริมาณการผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางลดลง ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น จึงเกิดการปฏิวัติโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช.
ครั้งที่ 3 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แล้วเพิ่งมาสงบเรียบร้อยเมื่อไม่นานมานี้
โดยเมื่อเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองไทย ณ วันนี้ ดร.วีรพงษ์ บอกว่า เที่ยวนี้ภาวะเศรษฐกิจกำลังจะเป็นตัวทำให้เกิดปัญหา ทั้งที่เสถียรภาพทางด้านการเงิน เสถียรภาพในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และเสถียรภาพอื่นๆ ค่อนข้างดี ประเทศไทยไม่มีปัญหาการขาดดุลการค้า หรือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากมายอะไร แต่ตอนนี้จะเกิดวิกฤตการณ์จากการส่งออกหดตัว ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ยาก และเมื่อธุรกิจอยู่ไม่ได้ก็ต้องลดค่าใช้จ่าย ลดค่าโฆษณา สื่อสารมวลชนและการบันเทิงก็จะอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดความเดือนร้อนทั่วไป
ดังนั้น เมื่อถามถึงความหวังจึงบอกได้ว่า “มันไม่มี” และตอนนี้จึงถึงเวลาที่น่าจะรู้กันแล้วว่า การที่ไม่มีประชาธิปไตยเป็นอย่างไร แล้วมันจะมีความหวังได้อย่างไร เมื่อความหวังจะมีประชาธิปไตยยังไม่มี เวลาเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่ใช่การเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มีวุฒิสมาชิกร่วมเลือกด้วย เลือกแล้วก็ยังได้คนเก่าเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่รู้จะเลือกตั้งไปทำไม
“แล้วอย่างนี้จะมีความหวังอย่างไรได้ ส่วนคนรุ่นใหม่ ก็เตรียมตัวพัง จบมาไม่มีงานทำ” ดร.วีพงษ์ กล่าว
ดร.วีรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ทางการเมืองได้ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ เรื่องการเมืองพยากรณ์ไม่ได้ ไม่เหมือนเรื่องเศรษฐกิจ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ดังนั้น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็อย่าไปหวัง เพราะผู้มีอำนาจไม่ให้แก้อย่างแน่นอน