กฟผ.เล็งเปิดประมูลงานติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 24 MW ปี 64

กฟผ.เล็งเปิดประมูลงานติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 24 MW ปี 64


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนจะเปิดประมูลจัดซื้อและจัดจ้างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาด 24 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วงปี 64 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้ภายในปี 66 ซึ่งจะนับเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการโซลาร์ลอยน้ำแห่งแรกของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ที่ได้กลุ่มบมจ.บี.กริม.เพาเวอร์ (BGRIM) ร่วมกับพันธมิตรจีน เป็นผู้ดำเนินการและจะเริ่ม COD ในธ.ค.63

ทั้งนี้ คาดว่าการประมูลงานดังกล่าวสำหรับเขื่อนต่อไป น่าจะได้ราคาที่ถูกกว่าโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสินรินธรที่มีมูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท เพราะคาดว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่จะมีต้นทุนถูกลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยค่าก่อสร้างที่ต่ำลงก็จะป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยถูกลงด้วย ขณะที่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) กฟผ.จะดำเนินโครงการโซลาร์ลอยน้ำในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ของกฟผ.รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ใน 9 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนสิริกิติ์

เราต้องการให้ Pilot Project ที่เขื่อนสิรินธรเรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นก็จะทำรายละเอียด แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้การประมูลสำหรับเขื่อนต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และราคากลางก็น่าจะถูกอ้างอิงด้วยราคาปัจจุบัน แต่ราคาเป็นจริงเท่าไหร่คงต้องมาดู ปี 64 ก็คงจะเริ่มร่าง TOR ของโครงการ ปรับปรุงให้ดีกว่าเขื่อนสิรินธร หลังจากนั้นก็น่าจะเปิดประมูลได้”นายเทพรัตน์ กล่าว

สำหรับการจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาติดตั้ง โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ตามขั้นตอนแล้ว การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) นั้น กฟผ.จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกฟผ. พิจารณาอนุมัติ ส่วนการเปิดประมูลจะต้องขอการอนุมัติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่ง กฟผ. คาดหมายว่า โครงการที่เหลือตามแผน PDP จะพยายามนำเสนอขอการอนุมัติเป็นแพ็กเกจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการในอนาคตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ กฟผ. ตามแผน PDP2018 นั้น ยังเดินหน้าตามเป้าหมาย ทั้งโรงไฟฟ้าน้ำพอง, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ, โรงไฟฟ้าพระนครใต้, โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่งบางโครงการอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) พร้อมกับจัดทำร่าง TOR คู่ขนานเพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากครม. ภายในปีนี้

สำหรับ PDP2018 กฟผ.จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง 8 แห่ง กำลังผลิตตามสัญญารวม 6,150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าน้ำพอง กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 68, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ถ่านหิน) ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 69, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 69 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70, โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 72, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี71 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 78

Back to top button