“ป.ป.ช.” เผยไทยติดอันดับ 6 คอร์รัปชั่นทั่วอาเซียน! จี้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริต-ใช้กม.ควบคุม

ป.ป.ช.แจงดัชนีรับรู้ทุจริตปี 62 ไทยติดอันดับ 6 คอร์รัปชั่นทั่วอาเซียน จี้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริต-ใช้กม.ควบคุมอย่างจริงจัง


นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2562 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยได้ 36 คะแนน เป็นอันดับที่ 101 และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแม้ว่าค่าคะแนนดัชนีจะเท่ากับคะแนนในปี 2561 แต่อันดับเพิ่มขึ้น 2 อันดับ

ทั้งนี้ โฆษก ป.ป.ช. ระบุว่า จากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง ไทยได้คะแนนสูงขึ้น 3 แหล่ง คะแนนเท่าเดิม 4 แหล่ง คะแนนลดลง 2 แหล่ง สำหรับแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนสูงกว่าปี 2561 มี 3 แหล่ง คือ

  1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ปี 2562 ได้ 45 คะแนน , ปี 2561 ได้ 41 คะแนน (เพิ่มขึ้น 4 คะแนน)

IMD สำรวจข้อมูลประมาณเดือน ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 4 ด้าน คือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยว่า “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่” ด้วยคะแนน 45 และเพิ่มขึ้นถึง 4 คะแนน น่าจะเกิดจากการรับรู้ถึงความจริงจังของภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตที่มีมากขึ้น

  1. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน ปี 2561 ได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

โดย PERC สำรวจข้อมูลประมาณเดือน ม.ค.ถึงต้นเดือน มี.ค.2562 จากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศ โดยให้ประเมินระดับปัญหาการทุจริต ในประเทศหรือในธุรกิจ คะแนนการรับรู้ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนยังคงเห็นว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทย ยังเป็นความเสี่ยงสูงต่อการประกอบธุรกิจ

  1. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ปี 2562 ได้ 43 คะแนน ปี 2561 ได้ 42 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

WEF สำรวจประมาณเดือน ม.ค.-มิ.ย.ของทุกปี ในมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุด ในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ การคอร์รัปชัน ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย  ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

โดยถามเกี่ยวกับการจ่ายสินบน เช่น การนำสินค้าเข้าหรือส่งออก การทำสัญญาและออกใบอนุญาต  และการจ่ายโอนเงินงบประมาณของรัฐไปสู่นิติบุคคล กลุ่มบุคคลหรือบุคคลคะแนนการรับรู้ดังกล่าว สะท้อนถึงอุปสรรคการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยลดน้อยลง ซึ่งอาจจะสืบเนื่องจากการประกาศให้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูล

ด้านแหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนเท่ากับปี 2561 มี 4 แหล่งข้อมูล คือ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF – TI) ได้ 37 คะแนน , Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน , Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน และ PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน PRS คะแนนเท่าเดิม ซึ่งทั้ง 4 แหล่งข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการให้สินบน การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และความโปร่งใสที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ยังมีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

ส่วนแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 2 แหล่งข้อมูล คือ World Justice Project (WJP) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน, ปี 2561 ได้ 40 คะแนน(ลดลง 2 คะแนน) และแหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ปี 2562 ได้ 20 คะแนน, ปี 2561 ได้ 21 คะแนน

โดย WJP รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย.2562 ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ทรัพย์สินของราชการของข้าราชการสายบริหาร ตุลาการ ตำรวจ ทหาร และสภานิติบัญญัติ คะแนน 38 ที่ลดลง เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนมองว่า กลุ่มข้าราชการยังคงใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และมีแนวโน้มว่าจะใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น

ขณะที่ V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ด้วยคำถามที่ว่า การทุจริตทางการเมืองเป็นที่แพร่หลายมากน้อยเพียงใด (How pervasive is political corruption?)  ใน 4 กลุ่ม คือ ภาครัฐ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ คะแนน 20 คะแนนและลดลงไปอีกจากปี 2561 เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้เพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหม่แล้ว แต่สภาพพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์หรือสินบน หรือการเบียดบังเงินงบประมาณ ทรัพยากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องยังคงมีอยู่

ทั้งนี้ จากผลคะแนนการรับรู้การทุจริต เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญที่ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และพลเมืองไทยทั้งประเทศ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตนับเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ

ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามสภาวะความยากจน และความไม่เท่าเทียมกันอย่างมีประสิทธิผล คือ การที่ทุกภาคส่วนจะต้องแสดงความจริงใจ และปรับฐานความคิดในการไม่เพิกเฉยกับการทุจริตในทุกระดับ

อีกทั้งในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต

โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบและมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ โดยร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อสร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”

Back to top button