สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น หุ้นกลุ่มสายการบิน โรงแรม และสถานกาสิโน ต่างก็ดิ่งลงอย่างหนัก หลังจากรัฐบาลจีนขยายเวลาวันหยุดในเทศกาลตรุษจีนและมีคำสั่งห้ามทัวร์จีนเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,535.80 จุด ร่วงลง 453.93 จุด หรือ -1.57% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,243.63 จุด ลดลง 51.84 จุด หรือ -1.57% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,139.31 จุด ลดลง 175.60 จุด หรือ -1.89%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) โดยร่วงลงมากกว่า 2% ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวสรัสโคโรนาจากจีน หลังจากที่ทางการจีนออกมาตรการสั่งห้ามชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ และขยายเวลาวันหยุดเทศกาลตรุษจีน
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 2.26% ปิดที่ 414.07 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,863.02 จุด ลดลง 161.23 จุด หรือ -2.68%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,204.77 จุด ลดลง 371.91 จุด หรือ -2.74% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,412.05 จุด ลดลง 173.93 จุด หรือ -2.29%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) โดยร่วงลงหนักที่สุดในรอบเกือบ 4 เดือน เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจากจีน หลังจากทางการจีนออกมาตรการห้ามชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศโดยหวังจะสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,412.05 จุด ลดลง 173.93 จุด หรือ -2.29%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) และทำสถิติปิดในแดนลบติดต่อกัน 5 วันทำการ หลังจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.05 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 53.14 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2562
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 59.32 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) โดยทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลที่ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นสหรัฐ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 5.50 ดอลลาร์ หรือ 0.35% ปิดที่ 1,577.40 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2556
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 5.7 เซนต์ หรือ 0.31% ปิดที่ 18.056 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 18.90 ดอลลาร์ หรือ 1.87% ปิดที่ 991.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 142.70 ดอลลาร์ หรือ 6.2% ปิดที่ 2,173.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร ปอนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรับ ที่ระดับ 1.1016 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1029 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3048 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3078 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6757 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6822 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.92 เยน จากระดับ 109.27 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์ ที่ระดับ 0.9696 ฟรังก์ จากระดับ 0.9708 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3182 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3142 ดอลลาร์แคนาดา