สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 ก.พ. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 ก.พ. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตสหรัฐ และราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ทรุดตัวลงในสัปดาห์ที่แล้ว อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,399.81 จุด เพิ่มขึ้น 143.78 จุด หรือ +0.51% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,248.92 จุด เพิ่มขึ้น 23.40 จุด หรือ +0.73% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,273.40 จุด เพิ่มขึ้น 122.47 จุด หรือ +1.34%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) โดยฟื้นตัวขึ้นหลังจากร่วงลงในสัปดาห์ที่ผ่านมารุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 7 เดือน เนื่องจากตลาดได้แรงหนุนบางส่วนจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการซื้อขายท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีน
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.25% ปิดที่ 411.72 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,832.51 จุด เพิ่มขึ้น 26.17 จุด หรือ +0.45%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,045.19 จุด เพิ่มขึ้น 63.22 จุด หรือ +0.49% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,326.31 จุด เพิ่มขึ้น 40.30 จุด หรือ +0.55%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) โดยดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอังกฤษ ซึ่งได้ช่วยหนุนตลาดท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,326.31 จุด เพิ่มขึ้น 40.30 จุด หรือ +0.55%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก ขณะที่นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ว่าจะดำเนินมาตรการใดในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ส่งผลกระทบต่อราคาและอุปสงค์น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.45 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 50.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2562
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ดิ่งลง 2.17 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 54.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2561
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.5 ดอลลาร์ หรือ 0.35% ปิดที่ 1,582.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 34.2 เซนต์ หรือ 1.9% ปิดที่ 17.67 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.8 ดอลลาร์ หรือ 0.91% ปิดที่ 970.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 8.8 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 2,233.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฟื้นตัวขึ้นในเดือนม.ค. หลังจากที่หดตัวลงติดต่อกัน 5 เดือน
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.68 เยน จากระดับ 108.35 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9660 ฟรังก์ จากระดับ 0.9635 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3295 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3234 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1063 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1087 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2997 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3198 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6688 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6694 ดอลลาร์สหรัฐ