“ครม.” ไฟเขียวขึ้นทะเบียนสินค้าควบคุม “หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ” แก้ปัญหากักตุน-โก่งราคา

“ครม.” ไฟเขียว ขึ้นทะเบียนสินค้าควบคุม “หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ” แก้ปัญหากักตุน-โก่งราคาสินค้า


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (4 ก.พ.63) มีมติเห็นชอบตามการเสนอของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอให้ 1.หน้ากากอนามัย 2.ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย และ 3. ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (เจลล้างมือ) เป็นสินค้าควบคุม

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศจีน ตลอดจนการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลให้สินค้าหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยหลังจากนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติต่อสินค้าควบคุม เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการขนย้าย (ส่งออก/นำออก) หน้ากากอนามัยต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีกเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโรงงานเยื่อกระดาษในประเทศ มีการนำเข้าเศษกระดาษเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาเศษกระดาษตกต่ำ ส่งผลต่อระบบการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ดี การประกาศสินค้าควบคุมเพิ่มเติมอีก 4 รายการนี้ ส่งผลให้มีรายการสินค้าและบริการควบคุมรวมทั้งหมดเป็น 56 รายการ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้สินค้าทั้ง 4 รายการเป็นสินค้าควบคุมแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการลงประกาศให้เร็วที่สุด และตนจะลงนามประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นสินค้าควบคุมทันที โดยคาดว่าอย่างเร็วสุดจะดำเนินการได้ภายในวันนี้

จากนั้นในวันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) กรมการค้าภายในจะสามารถออกมาตรการต่างๆในการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างน้อย 4 เรื่อง เพื่อกำหนดเป็นสินค้าควบคุม ประกอบด้วย

1.การขอให้แจ้งข้อมูลสำหรับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้จัดจำหน่าย และผู้นำเข้า ผู้ส่งออก เป็นต้น โดยแจ้งข้อมูลในเรื่องของการผลิต การครอบครอง การจำหน่ายที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นประโยชน์ในการเข้าไปดูแล

2.การกระจายสินค้าสามารถที่จะเข้าไปดำเนินการได้ว่าผู้ผลิตจะต้องส่งไปที่ไหนอย่างไร เพื่อให้สินค้าได้กระจายไม่ไปกระทบที่ใดที่หนึ่ง

3.เรื่องการส่งออก เพื่อดำเนินการกำหนดได้ว่าการส่งออกเกินกว่าจำนวนเท่าไรจึงจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อควบคุมปริมาณ โดยเบื้องต้นถ้าส่งออกเกิน 500 ชิ้นขึ้นไป จะต้องขออนุญาตส่งออกหรือขออนุญาตเคลื่อนย้ายออกนอกราชอาณาจักร

4.เรื่องการติดป้ายแสดงราคาจำหน่าย รวมทั้งการจำหน่ายให้ตรงกับป้ายราคาที่ติดไว้

ส่วนกรณีที่พบว่าสินค้าขาดตลาดนั้น เป็นหน้าที่ที่กรมการค้าภายในจะต้องเข้าไปเร่งประสานการกระจายสินค้าเพื่อให้เกิดความทั่วถึง แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่วันมานี้ มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในบางพื้นที่ ซึ่งพาณิชย์จังหวัดจะต้องเป็นผู้ดำเนินการรายงานข้อมูลทั้งหมดเข้ามายังส่วนกลาง และให้กรมการค้าภายในเข้าไปบริหารจัดการในเรื่องของการกำหนดให้มีการกระจายสินค้าให้มีความทั่วถึง

สำหรับการจำกัดปริมาณในการขายต่อคนนั้น ขึ้นกับการพิจารณาของกรมการค้าภายใน แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ร้านขายส่งขายปลีกบางส่วนได้กำหนดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการซื้อไปเก็บไว้ใช้เกินกว่าจำนวนที่จำเป็นต้องใช้จริง

“อาจจะมีผู้กังวลเรื่องสุขภาพ จากที่จะต้องใช้ปกติ 10 ชิ้น ก็อาจจะซื้อเผื่อไว้เป็น 20-30 ชิ้น หากคิดตรงกันหมด สินค้าก็จะขาดตลาดได้ จึงจะเข้าไปบริหารจัดการต่อไปโดยทางกรมการค้าภายใน ซึ่งก็จะเข้าไปบริหารจัดการในการกำหนด และมีโทษตามกฎหมาย ถ้าพบว่ามีการขายแพงเกินจริง ทั้งทางออนไลน์ และอื่นๆ หากพบสามารถแจ้งได้ที่ 1569” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ระบุ

Back to top button