“ศักดิ์สยาม” ฟ้องกลับ “โฮปเวลล์” ปมจดทะเบียนบริษัทฯไม่ถูกต้อง

ฟ้องกลับ! “ศักดิ์สยาม” ยื่น "ศาลปกครอง" วินิจฉัยปมจดทะเบียนบริษัทฯ “โฮปเวลล์” ขัดมติ ครม.


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กระทรวงคมนาคมตรวจพบข้อพิรุธการลงนามในสัญญาสัมปทานรถไฟยกระดับ (โฮปเวลล์) หรือคดีค่าโง่โฮปเวลล์ อาจไม่เป็นไปตามมติ ครม.

โดยระบุว่า หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ยื่นหนังสือไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์แจ้งกลับมายัง รฟท.ว่าการจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นไปอย่างถูกต้อง

นายศักดิ์สยาม จึงเตรียมดำเนินการยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยต่อไป เนื่องจากคณะทำงานที่การรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งขึ้น ตรวจสอบพบว่าบริษัทฯดังกล่าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง เพราะกิจการการคมนาคมซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่ต้องได้รับการยกเว้นการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ปว.281 เอกสารยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้รับการยกเว้น จึงไม่สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ทางโฮปเวลล์ ในสมัยที่จะขอสัมปทานนั้นได้ขอยกเว้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. ได้สิทธิพิเศษการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  3. ขอก่อสร้างในสถานที่ราชการ และ 4. ขอยกเว้น ปว. 281 โดยมติครม.อนุมัติให้แค่ 2 เรื่องคือเรื่องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้สิทธิบีโอไอ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มีเอกสารมายืนยันมติครม.

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นรัฐบาลสมัยนั้นให้สัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด แต่คนลงนามเป็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคนละบริษัท เพราะ ครม.ไม่ได้มีมติให้โฮปเวลล์ (ประเทศไทย ) เนื่องจากทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกจากกันเด็ดขาด

“วัตถุประสงค์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมฟ้องให้เขาเพิกถอนวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท  พอเพิกถอน สัญญาก็ต้องเป็นโมฆะ”

นายศักดิ์สยาม อธิบายว่า หากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการจดทะเบียนบริษัท กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเพิกถอน ก็เป็นว่าบริษัทนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ข้อนี้ ซึ่งเซ็นสัญญาไม่ได้หากไม่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นเรื่องการคมนาคมหรือขนส่ง ซึ่งเป็นอาชีพสงวนไว้ไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาดำเนินการ

“ผมก็บอกกับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าไปฟ้องศาล เอกสารเรามีอย่างนี้ เรามั่นใจว่าเราสู้ได้ เราดูตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย”

ส่วนการดำเนินการกับผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ก็ต้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 62 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ รฟท.จ่ายเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการบอกเลิกสัญญา

Back to top button