“คมนาคม” เร่งหารือ BTS -MRT ใช้ตั๋วร่วมภายในมิ.ย.นี้ ห่วงแอร์พอร์ตลิงก์ล่าช้า
“คมนาคม” เร่งหารือ BTS -MRT ใช้ตั๋วร่วมภายในมิ.ย.นี้ ห่วงแอร์พอร์ตลิงก์ล่าช้า
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการดำเนินการระบบตั๋วร่วม ในระยะเร่งด่วนในการพัฒนาให้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง และบัตร Rabbit ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ซึ่งปัจจุบันทุกระบบรวมกันมีจำนวน 14.2 ล้านใบ สามารถใช้งานร่วมกันได้ภายในเดือนมิ.ย. 63 นี้ ซึ่งหลังจากนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งประชุมหารือ เพิ่มจากสัปดาห์ละครั้งเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
โดยประเด็นที่ต้องเร่งหารือ ร่วมกัน คือ 1.หาข้อสรุปเรื่องแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบและการดำเนินการ ซึ่ง เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งจะต้องหารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานต่อไป ซึ่งในส่วนของ รฟม. มีรถไฟฟ้าสีม่วง และสีน้ำเงิน ซึ่งมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่เป็นผู้รับสัมปทานและเดินรถ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบ รวม 225 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 105 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมี BTSC เป็นผู้รับสัมปทาน ประเมินค่าใช้จ่ายไว้ที่ 120 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้
2.หาข้อสรุปการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non 3 Disclosure agreement: NDA) โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
3.จัดทำข้อตกลงทางธุรกิจ (Business Rules) ซึ่งปัจจุบัน BEM และ BTS ยังมีความแตกต่างกัน เช่น การเติมเงิน การให้ส่วนลด เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ หรือ กรณีเงินไม่พอ บัตรติดลบ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการใช้บัตรข้ามระบบ
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ แอร์พอร์ตลิงก์ น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากการปรับปรุงระบบก่อนหน้านี้ให้รองรับบัตรแมงมุมและ MRT Plus ยังไม่เสร็จ โดยมีการทดสอบระบบในห้องทดลอง 3 ครั้งแต่ไม่ผ่าน ขณะที่สัญญาจ้างสิ้นสุดไปแล้วถึง 11 เดือน ที่ประชุมเร่งให้แอร์พอร์ตลิงก์ พิจารณาความสามารถของบริษัทฯ และตรวจสอบ เงื่อนไขสัญญา และการยกเลิกสัญญา โดยตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หากค่าปรับเกิน 10% ของมูลค่าสัญญา เจ้าของงานมีสิทธิ์ยกมาเป็นข้ออ้างในการยกเลิก