KBANK คาดสินเชื่อธุรกิจ SME พลาดเป้าหลังกำลังซื้อยังชะลอตัว
KBANK คาดสินเชื่อธุรกิจ SME พลาดเป้าต่ำกว่า 6% หลังแนวโน้มครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีโอกาสชะลอตัวต่อเนื่อง ผลักดันให้กำลังซื้อชะลอตัวต่อ ขณะที่ NPL ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.9% และมีโอกาสเกินเป้าหมายที่ 3%
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) ของธนาคารในปีนี้มีโอกาสพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 6% หลังครึ่งปีแรกสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตเพียง 4% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก
ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้กำลังซื้อมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายที่ไม่สามารถขายสินค้าและบริการของตัวเองได้ดี ทำให้ยอดขายตกและความสามารถในการทำกำไรลดลงไป โดยมีผลตามมาต่อการขอกู้สินเชื่อใหม่ซึ่งปัจจุบันความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีการขอสินเชื่อไปลงทุนเพิ่มเติม เพราะแรงซื้อของภาคครัวเรือนยังน้อยมาก โดยครึ่งปีแรกสินเชื่อใหม่ติดลบ 6% ซึ่งมีผลอย่างเป็นนัยสำคัญต่อการพลาดเป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ของธนาคาร
สำหรับวงเงินสินเชื่อเก่าของลูกค้าปัจจุบันยังมีการเติบโตได้เล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีความต้องการเงินไว้ใช้เป็นเงินหมุนเวียน และป้องกันความเสี่ยงในการบริหารสต๊อกสินค้าเมื่อยอดออเดอร์สินค้าลดลง ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว
ขณะที่รายได้รวมของธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารยังมั่นใจทำได้ตามเป้าหมายเติบโต 9-10% แม้ว่ารายได้รวมในครึ่งปีแรกจะเติบโตได้เพียง 8% โดยรายได้ที่เติบโตส่วนใหญ่มาจากรายได้จากดอกเบี้ย ในขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมไม่มีการเติบโต เนื่องจากสินเชื่อใหม่ปล่อยได้น้อยลง
สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% และมีโอกาสทำให้ NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารทั้งปีเกินเป้าหมายที่ 3% แต่ยังเป็นระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ หลังลูกค้าธนาคารได้รับผลกระทบจำนวนมากจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว โดยสำหรับลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบและมีปัญหาเกิดขึ้นนั้น ธนาคารก็ได้มีการช่วยเหลือในการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้และมีการลดอัตราดอกเบี้ยให้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้า ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าที่มีปัญหามาก นอกจากนี้การบริหาร NPL ของธนาคารยังมีการขาย NPL ออกไปในครึ่งปีแรกที่ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อบริหารให้สัดส่วนหนี้ NPL ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมากจนธนาคารไม่สามารถบริหารจัดการได้