หุ้นพลังงานร่วง ฉุดดาวโจนส์ปิดลบ 56 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากบริษัทพลังงานรายใหญ่ รวมถึงเอ็กซอน โมบิล และเชฟรอน เปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ อันเป็นผลมาจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวานนี้ (31 ก.ค.) ที่ 17,689.86 จุด ลดลง 56.12 จุด หรือ -0.32%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,103.84 จุด ลดลง 4.79 จุด หรือ -0.23% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,128.28 จุด ลดลง 0.50 จุด หรือ -0.01% ส่วนตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 0.7%, ดัชนี S&P 500 ปรับขึ้น 1.2% และดัชนี NASDAQ ขยับขึ้น 0.8%
นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ส่งผลให้หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 4.58% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่แล้วที่ระดับ 8.8 พันล้านดอลลาร์ โดยผลประกอบการของเอ็กซอน โมบิล ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ
หุ้นเชฟรอน คอร์ปปอเรชัน ดิ่งลง 4.89% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 571 ล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่แล้วที่ 5.7 พันล้านดอลลาร์ โดยผลประกอบการไตรมาส 2 ของเชฟรอนออกมากย่ำแย่ที่สุดในรอบ 7 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเช่นกัน ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มพลังงานนั้น หุ้นโคโนโคฟิลิปส์ ดิ่งลง 3.3% หุ้นเมอร์ฟีย์ ออยล์ ร่วงลง 5% และหุ้นทรานส์โอเชียน ร่วงลง 4.9%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลง โดยหุ้นลิงค์อิน ร่วงลง 11% หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2558 ภายหลังจากที่เข้าซื้อเว็บไซต์ Lynda.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์เพื่อการศึกษา หุ้นไมครอน เทคโนโลยี ปรับตัวลง 4.2% และหุ้นบรอดคอม ร่วงลง 1.4% หลังจากทั้งสองบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่น้อยเกินคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันมากขึ้นหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงเกือบ 3% เมื่อคืนนี้ หลังจากมีรายงานว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกันข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายด้วยเช่นกัน โดยเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด ขยับขึ้นเพียง 0.2% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 33 ปี และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6%