ADVANC ตั้งงบลงทุนขยายโครงข่ายช่วง 1 ปี 1.5 หมื่นลบ. หวังขึ้นแท่นผู้นำ 5G เต็มรูปแบบ
ADVANC คาดงบลงทุนขยายโครงข่ายช่วง 1 ปี 1.5 หมื่นลบ. หวังขึ้นแท่นผู้นำ 5G เต็มรูปแบบ
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า บริษัทประมาณการงบลงทุนเบื้องต้นจำนวน 10,000-15,000 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพื่อจัดให้มีโครงข่ายการให้บริการ 5G ในพื้นที่สำคัญต่างๆ หลังจากชนะประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่จะนำมาพัฒนาเป็นบริการ 5G
ทั้งนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ADVANC ถือหุ้น 99.99% ได้เข้าประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ก.พ.63 และในวันนี้ กสทช.ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการให้ AWN เป็นผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาต ดังนี้
– ย่านคลื่นความถี่ 733MHz-738MHz คู่กับ 788MHz-793MHz แถบความกว้าง 2x5MHz ราคาประมูล 17,154 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ชำระเงินงวดแรกภายใน 15 วันก่อนวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ กำหนดเบื้องต้นให้เริ่มในวันที่ 1 เม.ย.64
– ย่านความถี่ 2500-2600MHz แถบความกว้าง 100MHz ราคาประมูล 19,561 ล้านบาท ชำระเงินงวดแรกภายใน 90 วันจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
– ย่านความถี่ 25.2-26.4GHz แถบความกว้าง 1200MHz ราคาประมูล 5,345 ล้านบาท ชำระเงินภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
ทั้งนี้ ด้วยสถานะการเงินที่ดีของ AIS ประกอบกับงวดการจ่ายค่าใบอนุญาตส่วนใหญ่มีระยะเวลา 10 ปี บริษัทสามารถใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดจากการประกอบธุรกิจ รวมถึงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ/หรือ การออกหุ้นกู้ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขที่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ในรอบปี 62 บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (หลังหักภาษี) รวม 76,627 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการจัดสรรเงินลงทุนและการจ่ายเงินปันผล และ ณ สิ้นงวด 31 ธ.ค.63 บริษัทมีเงินกู้ยืมรวม 94,184 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 1.36 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนภาษีและค่าเสื่อมที่ 0.92 เท่า ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการกู้ยืมเพิ่มเติม
สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดกับบริษัท เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้วยความพร้อมจากเทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบ การได้มาซึ่งคลื่นความถี่ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ AIS ในการเป็นผู้นำยุคเทคโนโลยี 5G ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดย 5G จะช่วยผลักดันให้ AIS ก้าวสู่มิติใหม่ที่จะส่งมอบบริการดิจิตอลที่สร้างความแตกต่างในแง่ประสบการณ์ของลูกค้า รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในภาคอุตสาหกรรมและสังคม
โดยคลื่นความถี่ทั้งสามย่านที่เพิ่มเข้ามาจะเสริมศักยภาพของบริการ 5G ได้อย่างครบถ้วน ทั้งในด้านความครอบคลุมของโครงข่าย และรองรับการใช้งาน 5G ในทุกรูปแบบทั้งสำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าองค์กร อาทิ เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ( Augmented reality/Virtual reality) สำหรับสื่อบันเทิงและเกมส์, บริการด้าน IoT หรือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต, บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Fixed Wireless Broadband)เป็นต้น
ขณะที่บริการเหล่านี้จะเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคต โดยเฉพาะการขยายบริการใหม่ๆ เข้าสู่กลุ่มลูกค้าองค์กรในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ AIS ต้องการขยายตลาดลูกค้าองค์กรในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาเสริมการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีความก้าวหน้าสู่การดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่และมีประสิทธิภาพการดำเนินงานที่สูงขึ้นตามมาตรฐานของเทคโนโลยี 5G นั้น การผสมผสานของคลื่นหลักทั้ง 3 ย่านความถี่ ซึ่งได้แก่ ความถี่ย่านสูง (สูงกว่า 6GHz), ความถี่ย่านกลาง (ระหว่าง 2-6GHz), และความถี่ย่านต่ำ (ต่ำกว่า2GHz) จะช่วยให้การบริการ 5G มีประสิทธิภาพทั้งในด้านความครอบคลุมและความจุโครงข่าย
นอกจากนี้ ยังช่วยให้ AIS สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละคลื่นนั้นมีคุณสมบัติเด่นและการใช้งานที่แตกต่างกัน คลื่น 700MHz มีจุดเด่นด้านความคลุมพื้นที่ที่กว้างไกลจะรองรับความครอบคลุมของบริการ 5G และ บริการสำหรับอุปกรณ์ IoT ซึ่งในครั้งนี้ AIS ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 5MHz เมื่อรวมกับคลื่นความถี่ที่เคยได้รับจัดสรรจำนวน 10MHz รวมเป็นแถบความกว้างทั้งหมด 15MHz ต่อเนื่องกัน จะส่งเสริมให้มีความจุโครงข่ายมากขึ้น และช่วยให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้น
โดย คลื่น 2600MHz ถือเป็นคลื่นความถี่มาตรฐานของเทคโนโลยี 5G ในย่านความถี่กลาง ที่มีคุณสมบัติทั้งด้านความครอบคลุมและด้านความจุโครงข่าย และมีการพัฒนาด้านอุปกรณ์ที่สนับสนุนเทคโนโลยี 5G อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การมีคลื่นความถี่ที่ต่อเนื่องกัน 100 MHz ถือเป็นสถานะการครอบครองคลื่นความถี่ที่แข็งแรงต่อการแข่งขันในระยะยาว และส่งเสริมการให้บริการ 5G อย่างเต็มรูปแบบภายใต้การลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ คลื่น 26GHz เป็นคลื่นความถี่ที่มีความยาวคลื่นในระดับมิลลิเมตร (Millimeter-wave band) ซึ่งจะช่วยรองรับความจุโครงข่ายในระดับสูง และให้บริการการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที (Gbps) (อัตราความเร็วสูงสุด 20 เท่าของเทคโนโลยี 4G) ซึ่งจำเป็นสำหรับบริ การ Enhanced Mobile Broadband (eMBB) คือ การใช้งานในลักษณะที่ต้องการการส่งข้อมูลความเร็วสูง และ Ultra Reliable Low Latency Communications (URLLC) คือ การใช้งานที่ต้องการความสามารถในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมากและมีความหน่วงเวลาในการส่งข้อมูล (Latency) ต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความแม่นยำสูง การมีคลื่นความถี่ย่าน 26GHz มากถึง 1200MHz นี้จะส่งเสริมศักยภาพในการให้บริการ 5G ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะดิจิตอลโซลูชั่นสำหรับภาคอุตสาหกรรม
สำหรับระยะแรกที่การพัฒนาของบริการ 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นนั้น คลื่น 700MHz และ 2600MHz ซึ่งได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ได้กับทั้งเทคโนโลยี 4G และ 5G สามารถนำมาเสริมการใช้งานในโครงข่ายปัจจุบันได้ เพื่อขยายความจุโครงข่ายและความครอบคลุม และช่วยประหยัดการลงทุน อีกทั้งยังช่วยเสริมศักยภาพของการบริหารจัดการโครงข่าย และเสริมคุณภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า