TMB Analytics คาด กนง. คงดอกเบี้ย 5 ส.ค.นี้ จับตาความเสี่ยงศก.ไทย

TMB Analytics คาด กนง. คงดอกเบี้ย 5 ส.ค.นี้ จับตาความเสี่ยงศก.ไทย มีโอกาสที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในปี 2558 เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับสูง


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 5 สิงหาคม เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีโอกาสที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในปี 2558 เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับสูง 

ในการประชุมครั้งก่อน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากคณะกรรมการมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป 2 ครั้งก่อนหน้านี้ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินไปในระดับหนึ่งและช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ดังนั้นจึงสามารถรอประเมินประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ กนง. ยังต้องการที่จะเก็บกระสุนเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต หลังมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่สูง

ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา นับว่าไม่ได้รวดเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสสอง สะท้อนภาพกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ อุปสงค์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุนก็ยังอยู่ในระดับต่ำ การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยลดลงถึงร้อยละ 7.5 ในช่วง ครึ่งแรกของปี

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงประกอบกับปญหาภัยแล้งทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงตามไปด้วย เมื่อการบริโภคชะลอก็ส่งผลให้การลงทุนในภาคเอกชนชะลอตาม เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงทำให้กำลังการผลิตยังเหลืออยู่ค่อนข้างมาก (เฉลี่ย 6 เดือนแรก อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59 เท่านั้น) รวมทั้งยังรอความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่ในปีนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น 

นอกจากนี้ การส่งออกก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย โดยล่าสุดตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนหดตัวถึงร้อยละ 7.9 แย่ลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 5.0 ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ 5.0 และหดตัวร้อยละ 4.8 ในช่วงครี่งแรกของปี เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางกว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ จากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ในปัจจุบันจะเข้ามาช่วยบรรเทาภาคการส่งออกที่หดตัวลงได้บ้าง ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 5 สิงหาคม เพื่อรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจหลังมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินมาก่อนหน้านี้

ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับหลากหลายความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวความเสี่ยงแรก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนจาก IMFปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) โดยมีมุมมองที่เป็นบวกลดลงในเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน-5 ทำให้ภาคส่งออกมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่แล้วอาจชะลอลงอีก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด นอกจากนี้ ภัยแล้งยังส่งผลให้เกษตรกรต้องชะลอการเพาะปลูกออกไป ซึ่งโดยปกติการปลูกข้าวจะกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน ทำให้เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวมาจับจ่ายใช้สอยล่าช้าไปจนถึงช่วงปลายปี 

อีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญคือราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอีกครั้ง  โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ประมาณ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ราคาน้ำมันที่ลดลงจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อติดลบมากขึ้นและนานขึ้น

โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในแดนลบมาแล้วกว่าครึ่งปี และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในแดนลบต่อไปในไตรมาส 3 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ภาวะเงินเฟ้อติดลบที่ลากยาวออกไปอาจส่งผลต่อคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดในที่สุด

ทั้งนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงทางด้านขาลบ ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่ามีโอกาสที่ กนง. จะต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 1.25 ภายในปี 2558 อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 สิงหาคม จะมีการรายงานตัวเลขจีดีพีไทยในไตรมาส 2 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะช่วยให้มองเห็นภาพของเศรษฐกิจไทยและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Back to top button