สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 ก.พ. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 ก.พ. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน และร่วงลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาจากความวิตกที่เพิ่มขึ้นว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,409.36 จุด ร่วง 357.28 จุด หรือ -1.39% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,954.22 จุด ลดลง 24.54 จุด หรือ -0.82% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,567.37 จุด เพิ่มขึ้น 0.89 จุด หรือ +0.01%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดดิ่งลงเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความวิตกว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในประเทศต่างๆ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 3.54% ปิดที่ 375.65 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,309.90 จุด ร่วงลง 185.69 จุด หรือ -3.38%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,890.35 จุด ดิ่งลง 477.11 จุด หรือ -3.86% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,580.61 จุด ร่วง 215.79 จุด หรือ -3.18%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2559 เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมา ท่ามกลางความวิตกว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงขึ้น
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,580.61 จุด ร่วงลง 215.79 จุด หรือ -3.18%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่อเนื่องเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายสัญญาน้ำมันดิบออกมา ท่ามกลางความวิตกว่า การแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามไปด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.33 ดอลลาร์ หรือ 5% ปิดที่ 44.76 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.66 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 50.52 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองเพื่อทำกำไร หลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้ แม้ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงอย่างหนักก็ตาม ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด หลังจากมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 75.80 ดอลลาร์ หรือ 4.61% ปิดที่ 1,566.70 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองร่วงลงราว 5%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 1.278 ดอลลาร์ หรือ 7.21% ปิดที่ 16.457 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 40.8 ดอลลาร์ หรือ 4.51% ปิดที่ 864.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 220.60 ดอลลาร์ หรือ 8.1% ปิดที่ 2,491.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินปลอดภัย อาทิ เยนและฟรังก์สวิสในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) โดยนักลงทุนได้เทขายดอลลาร์และเข้าซื้อสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% สู่ระดับ 98.1327 ในการซื้อขายเมื่อคืนนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.85 เยน จากระดับ 109.95 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9656 ฟรังก์ จากระดับ 0.9699 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3402 ดอลลาร์แคนดา จากระดับ 1.3365 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1027 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0986 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2792 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2892 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6522 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6584 ดอลลาร์สหรัฐ