“วิปรัฐบาล” ยันไม่เปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ แก้ปัญหา “แฟลชม็อบ นศ.” ปมขัดแย้งการเมือง

“วิปรัฐบาล” ยันไม่มีแนวคิดเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญแก้ปมขัดแย้งทางการเมือง หลัง 3 พรรคเล็ก ยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ เหตุหวั่นแฟลชม็อบ นศ.ลงถนน!


นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย และนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทยรักธรรม ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญให้มีการพิจารณานำปัญหากรณีนักศึกษาจัดการชุมนุมทางการเมือง เพราะเหตุที่ไม่พอใจกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพื่อขับไล่กดดันนายกรัฐมนตรีให้ลาออกและยุบสภาฯ

โดยมองว่าการชุมนุมดังกล่าวมีความเข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียเช่นเดียวกับเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 , 6 ต.ค. 2519 หรือ 17 พ.ค. 2535

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า เนื่องจากการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญยังต้องรออีก 3 เดือนถึงจะนำปัญหาดังกล่าวเข้าหารือได้ จึงเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาภายใต้ระบบรัฐสภาในการหาทางออกร่วมกัน และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐสภา ที่อาจส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคถอนตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเป็นทางออกดีกว่าให้นักศึกษาลงท้องถนนได้

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า วิปรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้ตัวแทนจากทุกฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็นตามที่ผู้เสนอ เนื่องจากเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะตราพระราชกฤษฎีกา

ขณะที่นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนเองยังไม่มีแนวคิดเรื่องการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในเวลานี้ และนายชวน  ก็ยังไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญนั้นจะต้องเป็นกรณีสำคัญอย่างแท้จริง เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น และกำหนดให้ ส.ส.เข้าชื่อร้องขอเพื่อให้เปิดประชุมดังกล่าว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 123 บัญญัติไว้ว่า ส.ส.และ ส.ว.ทั้งสองสภารวมกัน หรือ ส.ส.มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ย.62 สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้มีการประชุมสมัยวิสามัญมาแล้วครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณารับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ขัดข้องกับแนวทางนี้ แต่มองว่าจะทำให้เสียเวลาในกระบวนการไปประมาณ 3 เดือน ซึ่งคิดว่าเป็นเวลาที่ยาวนาน จึงอยากเสนอให้รัฐบาลลงไปรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาโดยตรงแล้วนำมาพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้เป็นประชาธิปไตย

รวมถึงนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้วและให้รัฐบาลเสนอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีม้วนเดียวจบ ซึ่งไม่ขัดต่อนโยบายรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และสามารถปลดล็อค ลดดีกรีความร้อนแรงการชุมนุมของนักศึกษาได้ระดับหนึ่ง และเมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าภาพการแก้ไขรัฐธรรมนูญเองก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

Back to top button