“ศักดิ์สยาม” ชงแผนรับมือ “ผีน้อยเกาหลีใต้” กลับปท. ใช้มาตรฐานเดียวกับคนไทยจากอู่ฮั่น!

“ศักดิ์สยาม” ชงแผนรับมือ “ผีน้อยเกาหลีใต้” กลับปท. ใช้มาตรฐานเดียวกับคนไทยจากอู่ฮั่น! พร้อมเสนอมาตรการเยียวยาสายการบิน-แท็กซี่ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ "โควิด-19" เข้าครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค.นี้


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีที่มีกลุ่มแรงงานไทยที่พำนักในประเทศเกาหลีใต้เกินกว่าที่วีซ่ากำหนดจะเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยระบุว่า ในวันนี้ (4 มี.ค.63) ทางกระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอให้เพิ่มกระทรวงมหาดไทย , กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เข้ามาร่วมบูรณาการในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC)  ที่ประกอบด้วย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOT , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากจะต้องส่งกลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้กลับภูมิลำเนา ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อขนส่งผู้โดยสารล่วงหน้าไว้แล้ว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการสั่งการให้ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เข้มงวดในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ พร้อมยกระดับการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกสนามบิน โดยในส่วนของแรงงานไทยที่พำนักเกินวีซ่าที่จะเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้นั้น ก็จะมีการใช้มาตรฐานในการคัดกรองผู้เดินทางในรูปแบบเดียวกับกรณีของผู้ที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่จะมีการแยกประเภทผู้โดยสารอย่างชัดเจนและเมื่อหากพบว่าผู้โดยสารคนใดมีไข้สูงสุ่มเสี่ยงจะถูกนำส่งตัวเพื่อทำการรักษาทันที

ทั้งนี้ ในการตรวจคัดกรองนั้นจะมีการจัดโซนเพื่อคัดกรองตรวจสอบปลายทางหลังจากที่มีการคัดกรองจากต้นทางก่อนขึ้นเครื่องแล้ว โดย ทอท.จะมีการคัดกรองสามชั้น คือ ตั้งแต่เดินทางมาถึงขาออก บริเวณทางแยกอาคาร และด่าน ตม. ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) และศูนย์ฯดังกล่าวจะมีการประชุมในทุกวันเวลา 10.00 น. เพื่อให้มีการประสานงานระหว่างกัน

รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในหลายๆ หน่วยงาน เช่น ตม. และด่านควบคุมโรคฯ เป็นต้น โดยให้ใช้ประโยชน์จากระบบการคัดกรองผู้โดยสาร ที่มีการส่งรายชื่อการเดินทางผู้โดยสารจากต้นทางมายัง (APPS) เพื่อจะทำให้คัดกรองได้ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผู้โดยสารเบื้องต้นที่กลับเข้ามาในไทยจำนวนมากหากตรวจคัดกรองแล้วไม่พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็จะมีการส่งกลับภูมิลำเนาและจะต้องมีการกักตัวในบ้าน 14 วันและจะมีการเฝ้าระวังโดยจะมีการประสานข้อมูลให้ทางกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบว่ามีการกักตัวครบ 14 วันหรือไม่ รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปตรวจสอบอาการระหว่างกักตัวด้วยเพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนทั่วไป

ขณะที่ในส่วนของรถที่จะนำมาใช้เพื่อให้บริการในการรับส่งกลุ่มแรงงานไทยฯนั้น ก็ได้มีการสั่งการให้ทางกรมการขนส่งทางบกและ บขส. ประสานไปยัง สธ.ให้จัดเตรียมชุดให้กับผู้ขับขี่ที่จะขับรถไปส่งกลุ่มแรงงานไทยฯกลับภูมิลำเนาด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย และจะมีการทำความสะอาดรถที่จะนำมาใช้ให้สะอาดตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตามในส่วนการเดินทางไปต่างประเทศนั้นก็ขอให้มีการระงับการเดินทางในช่วงเวลานี้

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งที่เกี่ยวข้อง สายการบินที่ได้รับผลกระทบ และผู้ประกอบการแท็กซี่ ก็ได้มีการส่งมาตรการขอความช่วยเหลือ ทั้งการผ่อนชำระซื้อรถและการแบ่งเบาภาระต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะรวบรวมข้อเรียกร้องทั้งหมดเพื่อนำเสนอให้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาในวันที่ 6 มี.ค.นี้

Back to top button