“คลัง” ชงมาตรการสู้โควิด-19 เข้าครม.เศรษฐกิจ ประเดิมชุดแรกแจกเงินผ่านพร้อมเพย์!
"คลัง" ชงมาตรการสู้โควิด-19 เข้าครม.เศรษฐกิจ ประเดิมชุดแรกแจกเงินผ่านพร้อมเพย์!
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)วันที่ 6 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา ชุดที่ 1 คาดว่าจะมีวงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีมาตรการสำคัญคือการแจกเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ให้ประชนผู้มีรายได้น้อย มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร โดยอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินที่เหมาะสมระหว่าง 1,000-2,000 บาท และจะแจกครั้งเดียวหรือทยอยเป็นรายเดือน เนื่องจากต้องการให้มีผลทันทีในช่วง 3-4 เดือนนี้
“ผู้ที่ร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียน เมื่อได้รับโอนเงินก็สามารถกดเป็นเงินสดไปใช้ได้ทันที เพื่อให้เกิดความง่ายในการใช้จ่าย คาดว่าการแจกเงินรอบนี้ จะมีผู้รับประโยชน์มากกว่า 14 ล้านคน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการชิมช้อปใช้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นคนละมาตรการกัน แต่ผู้ถือบัตรบางส่วนที่เข้าเกณฑ์ ก็จะรับการแจกเงินด้วย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 ต้องชะลอไปก่อน” นายอุตตม กล่าว
นอกจากนี้จะมีมาตรการช่วยเหลือตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หารือกันเพื่อปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้ใช้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือตลาดทุนที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ร่วงลงไปอย่างมาก
ส่วนจะเพิ่มวงเงินลงทุนได้ 5 แสนบาท และระยะเวลาการถือครอง 7 รอบบัญชีเหมือนเดิมหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นมาตรการชั่วคราว
นอกจากนี้ จะมีมาตรการภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถจ้างงานลูกจ้างต่อไป โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า และกรมสรรพากรจะออกประกาศให้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายลดลง เพื่อให้รมีสภาพคล่องมากขึ้น รวมทั้งจะมีการตั้งกองทุนเพื่อให้เงินสนับสนุนให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราวด้วย
อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งผู้ประกอบการภาคธุรกิจทั่วไปและภาคท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก (ซอฟท์โลน) เพื่อไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการผ่อนปรนการสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น
สำหรับกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมฉุกเฉินและปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ในส่วนของประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นอำนาจของ ธปท.จะตัดสินใจว่าจะปรับลดดอกเบี้ยเร่งด่วนเช่นเดียวกันหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งธปท.และกระทรวงการคลังก็ได้หารือกันอย่างใกล้ชิด
โดยการออกมาตรการครั้งนี้ได้ให้ ธปท.เข้ามาหารือด้วยเพื่อให้เห็นภาพรวมชุดมาตรการทั้งหมดว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรบ้าง และเพื่อให้ ธปท.ไปพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไปก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้
“ผมได้เน้นกับปลัดกระทรวงการคลังแล้วว่ามาตรการทั้งหมดเมื่อผ่าน ครม.เศรษฐกิจ และ ครม.ในสัปดาห์หน้า จะต้องมีผลในทางปฏิบัติทันที ซึ่งมาตรการนี้จะมีผล 3-4 เดือนไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่วนผลกระทบมาตรการไวรัสโคโรนาจะไปจบเมื่อไหร่ เราไม่สามารถตอบได้ เราจึงออกมาตรการดูแลชุดที่ 1 ซึ่งหมายความว่ามีความพร้อมจะออกมาตรการชุดที่ 2 และ 3 ทันทีหากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น”นายอุตตม กล่าว