สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 มี.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 มี.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2,000 จุดเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีทำสถิติดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่เป็นไปอย่างตื่นตระหนก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงอย่างหนักและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,851.02 จุด ดิ่งลง 2,013.76 จุด หรือ -7.79% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,746.56 จุด ลดลง 225.81 จุด หรือ -7.60% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,950.68 จุด ลดลง 624.94 จุด หรือ -7.29%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดดิ่งลงเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2551 โดยหุ้นกลุ่มน้ำมันฉุดตลาดร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากซาอุดิอาระเบียประกาศปรับลดราคาน้ำมันและเตรียมเพิ่มการผลิตในเดือนหน้า หลังจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับรัสเซียในการปรับลดการผลิต

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลอิตาลีได้ประกาศมาตรการกักกันโรคขนานใหญ่ทั่วประเทศเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 7.44% ปิดที่ 339.50 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,707.91 จุด ลดลง 431.19 จุด หรือ -8.39%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,625.02 จุด ลดลง 916.85 จุด หรือ -7.94% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,965.77 จุด ลดลง 496.78 จุด หรือ -7.69%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มน้ำมันออกมาหลังจากราคาน้ำมันดิ่งลงจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศทำสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,965.77 จุด ลดลง 496.78 จุด หรือ -7.69%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 24% เมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย ประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมันในการประชุมที่กรุงเวียนนาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียเปิดฉากทำสงครามราคาน้ำมัน ด้วยการประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 10.15 ดอลลาร์ หรือ 24.6% ปิดที่ 31.13 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 10.91 ดอลลาร์ หรือ 24.1% ปิดที่ 34.36 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐทำสถิติดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 3.3 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,675.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 20.9 เซนต์ หรือ 1.21% ปิดที่ 17.054 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 33.6 ดอลลาร์ หรือ 3.75% ปิดที่ 862.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 33.50 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 2,405.70 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเงินเยนและฟรังก์สวิส ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวของราคาน้ำมันได้ส่งผลให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย

ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 102.15 เยน จากระดับ 105.23 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9239 ฟรังก์ จากระดับ 0.9368 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3629 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3423 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1458 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1314 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3110 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3013 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6595 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ  0.6639 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button