“ครม.” ไฟเขียว 12 มาตรการเร่งด่วนพยุงเศรษฐกิจบรรเทาผลกระทบ “โควิด-19”
“ครม.” ไฟเขียว 12 มาตรการเร่งด่วนพยุงเศรษฐกิจบรรเทาผลกระทบ “โควิด-19”
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (10 มี.ค.63) มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 รวม 12 มาตรการ เพื่อการดูแลทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นมาตรการที่ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และเป็นมาตรการชั่วคราวตามความจำเป็น ประกอบด้วยมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี
โดยมาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย
- มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย
- มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถอำนวยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
- มาตรการเสริมจากสำนักงานประกันสังคม โดยเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้กู้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม
ขณะที่มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย
- มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย.63 ในรอบปีภาษี 2563
- มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า
- มาตรการส่งเสริมการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยให้นำรายจ่ายค่าจ้างมาหักลดหย่อนได้ 3 เท่าในการคำนวณภาษีเงินได้
- การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้เร็วขึ้น โดยหากเป็นผู้ที่ยื่นแบบชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ต จะคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนการยื่นที่สำนักงานสาขาของสรรพากร จะคืนให้ภายใน 45 วัน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น
1. มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับ (Regulator) บรรเทาภาระโดยพิจารณาถึงแนวทางการลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำและค่าไฟ หรือแนวทางที่เหมาะสม เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน เป็นต้น ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
- มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตน จากอัตรา 5% เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ 2.75% ของค่าจ้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงที่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ
- มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
- มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้หักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณ (RMF) ทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 และถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้เห็นชอบให้กันวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการไว้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากที่พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดรูปแบบและขอบเขตการใช้วงเงินดังกล่าวต่อไป
“ในหลักการ ครม.อนุมัติแล้ว ด้วยเห็นความจำเป็นว่าหากเกิดผลกระทบ จะได้มีกองทุนส่วนนี้ หรือวงเงินนี้ไว้ใช้จ่ายตามความจำเป็น แต่ต้องคุยรายละเอียดต่อไป” นายอุตตม ระบุ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรเสนอ ในการยกเว้นอากรนำเข้าวัสดุที่เกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัย เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากนี้เป็นต้นไป