กกพ.สั่งตรึงค่าไฟนาน 4 เดือน ช่วยค่าครองชีพปปช.-ลดผลกระทบ “โควิด-19”
กกพ.สั่งตรึงค่าไฟนาน 4 เดือน ช่วยค่าครองชีพปปช.-ลดผลกระทบ "โควิด-19"
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนพ.ค.- ส.ค.63 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่อไปอีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5,120 ล้านบาทในการบริหารจัดการเพื่อตรึงค่าเอฟที
อย่างไรก็ตาม การประมาณการค่าเอฟทีต้องนำภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากส่วนต่างค่าเอฟทีประมาณการกับค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในครั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากประมาณการไว้
ทั้งนี้ เงินในการบริหารจัดการเอฟทีในงวด พ.ค. – ส.ค. 63 จำนวน 5,120 ล้านบาท นำมาจากการกำกับฐานะการเงินของการไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที ในงวด พ.ค. – ส.ค. 63 ในรายละเอียด ประกอบด้วย
- ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 63 เท่ากับ 69,920 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 63 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,724 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 6.38% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน
- สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 63 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 58.34% ถ่านหิน 16.32% และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 16.20 %
- แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 263.19 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 3.50 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชน อยู่ที่ 2,488.19 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 16.59 บาทต่อตัน
- อัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับ 31.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่ากว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกันยายน 2562 ที่ 30.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 มีนาคม 2563 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
สำหรับภาวะการณ์ในระยะ 4 เดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งคาดว่าราคาเชื้อเพลิงในช่วงนี้มีแนวโน้มลดลง อาทิ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก
ขณะที่ สำนักงาน กกพ.คาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเริ่มทยอยคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติที่พร้อมก่อน โดยจะทยอยคืนให้ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก รวมประมาณ 21.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท
โดยมาตรการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นมาตรการล่าสุดของสำนักงาน กกพ. ซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อการยกระดับการคุ้มครองสิทธิ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทยอยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และล่าสุดมาตรการคืนเงินดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่มีผลบังคับใช้ และเริ่มคืนดอกผลผ่านส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการดำเนินการของ กกพ. นอกจากมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงานได้อย่างครอบคลุมให้มากที่สุดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการดูแลผลกระทบ และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อความมั่นคง และคุณภาพการให้บริการเป็นหลักด้วย
สำหรับรูปแบบการคืนเงินประกัน แนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการขอรับเงินคืน รวมทั้งการซักซ้อมเตรียมความพร้อมในการดำเนินการระหว่าง กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะมีการประชุมสรุปหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณาการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้