สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 มี.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 มี.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นอย่างมากเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) โดยพุ่งขึ้นวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และเตรียมอัดฉีดเงินช่วยเหลือของรัฐบาลกลางสหรัฐราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,185.62 จุด เพิ่มขึ้น 1,985.00 จุด หรือ +9.36%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,711.02 จุด เพิ่มขึ้น 230.38 จุด หรือ +9.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,874.88 จุด เพิ่มขึ้น 673.07 จุด หรือ +9.35%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) หลังพุ่งขึ้นถึง 8% ในการซื้อขายช่วงบ่าย เนื่องจากนักลงทุนมีความหวังเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความพยายามร่วมกันของประเทศต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนนี้ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 มี.ค.
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 1.43% ปิดที่ 299.16 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,118.36 จุด เพิ่มขึ้น 74.11 จุด หรือ +1.83%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,232.08 จุด เพิ่มขึ้น 70.95 จุด หรือ +0.77% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,366.11 จุด เพิ่มขึ้น 128.63 จุด หรือ +2.46%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตลาดฟื้นตัวขึ้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นการทรุดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ “แบล็ค มันเดย์” ในปี 2530
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,366.11 จุด เพิ่มขึ้น 128.63 จุด หรือ +2.46% แต่ร่วงลง 18% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการดิ่งลงรุนแรงที่สุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า รัฐบาลของหลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งวัดค่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินสำคัญ ปรับตัวขึ้น 1.33% สู่ระดับ 98.7712
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.18 เยน จากระดับ 105.15 เยน, ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9554 ฟรังก์ จากระดับ 0.9456 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3926 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3845 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1066 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1177 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2305 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2581 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6141 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6322 ดอลลาร์สหรัฐ
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 4% เมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐและดอลลาร์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากได้กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายทองซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 73.6 ดอลลาร์ หรือ 4.63% ปิดที่ 1,516.7 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองร่วงลงมากกว่า 9% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 1.505 ดอลลาร์ หรือ 9.4% ปิดที่ 14.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 37.9 ดอลลาร์ หรือ 4.85% ปิดที่ 743.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 405.80 ดอลลาร์ หรือ 21.2% ปิดที่ 1,509.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) หลังร่วงลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดี โดยราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นจากความหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและประเทศต่างๆ อาจจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19