“มธ.” ประกาศหยุด 16-22 มี.ค.ปรับรูปแบบเรียนออนไลน์ รับมือ “โควิด-19”
“มธ.” ประกาศหยุด 16-22 มี.ค.ปรับรูปแบบเรียนออนไลน์ รับมือ “โควิด-19”
รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาตรการ และคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 6 ให้งดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยระบุว่า ตามที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ในหลายประเทศ และมีการติดต่อระหว่างบุคคลแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ระดับโลก (Pandemic)
ประกอบกับได้ตรวจพบว่ามีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งเคยไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะมีการสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะได้ให้มีการกักตัวตามมาตรการการควบคุมโรคแล้ว เพื่อเป็นการป้องการแพร่ระบาด ลดความแออัดและโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา และเป็นตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานและการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงออกมาตรการ ดังนี้
1.ให้งดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต ระหว่างวันจันทร์ที่ 16 ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 มี.ค.63 และให้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.63 หรือจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
2.ให้คณะต่างๆเตรียมระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และดำเนินการให้สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ภายในวันที่ 23 มี.ค.63
3.ให้สำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริการมหาวิทยาลัย สำนักสภามหาวิทยาลัย สำนักงานตรวจสอบภายใน ดำเนินการประชุมในวันจันทร์ที่ 16 มี.ค.63 เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติภายในที่พัก (work from home) ของผู้ปฏิบัติงาน และเสนอต่อรองอธิการบดีที่กำกับดูแลเพื่อพิจารณา โดย
3.1กำหนดประเภทของงานและตัวผู้ปฏิบัติงานงานที่จะต้องมีการผลัดเวรให้มาทำที่สำนักงานเท่าที่จำเป็น ตั้งแต่วันอังคารที่ 17 มี.ค.63
3.2กำหนดมอบหมายงานที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติภายในที่พักเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ (ตามลักษณะและความจำเป็นของงาน) โดยกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การติดตามประเมินความก้าวหน้า และการรายงานผลการทำงาน
ในกรณีของส่วนงานอื่น ให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละส่วนงาน
4.ให้คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ติดตามประกาศเกี่ยวกับการจัดอบรมระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์