“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้ “โควิด-19” ฉุดดัชนีภาคครัวเรือนก.พ.ดิ่ง 37.3 นิวโลว์รอบ 73 เดือน!

“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้ "โควิด-19" ฉุดดัชนีภาคครัวเรือนก.พ.ดิ่ง 37.3 นิวโลว์รอบ 73 เดือน!


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 73 เดือน จากระดับ 40.6 ในเดือน ม.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 37.3 ในเดือน ก.พ.63

นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีฯ ร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 40.0 (ในช่วงก่อนหน้า ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นลงอยู่ในระดับ 40.0-50.0 จากหน่วยเต็ม 100.0) จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในทุกมิติการครองชีพ ซึ่งมีส่วนสำคัญและได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่พึ่งพิงกำลังซื้อของชาวต่างชาติ

โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกนำเข้าสินค้า เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นต้น ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ทยอยปรับตัวเพื่อประคับประคองสถานการณ์ความอยู่รอดของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องการจ้างงาน เช่น การขอความร่วมมือจากพนักงานใช้สิทธิลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave Without Pay) การปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการ รวมถึงการเลิกจ้างบริษัทภายนอก/พนักงานชั่วคราว (Outsource) ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความไม่มั่นคงทางด้านรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนไทย

โดยดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองต่อรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก จากระดับ 47.1 ในเดือน ม.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 43.1 ในเดือน ก.พ.63 นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น เช่น การหาซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับฆ่าเชื้อต่างๆ เป็นต้น

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกันและยังอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีฯ ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนไทยมองภาพรวมเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือน เม.ย.-มิ.ย.63) ย่ำแย่กว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ครัวเรือนไทยมองว่ายังไม่น่าไว้วางใจ

สอดคล้องไปกับผลการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการวางแผนกิจกรรมของครัวเรือนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง (จัดทำการสำรวจก่อนรัฐบาลประกาศยกเลิกวันหยุดช่วงสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เม.ย.63) พบว่า ครัวเรือนไทยเกือบครึ่ง (48.8%) ที่ทำการสำรวจวางแผนที่จะพักผ่อนอยู่บ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงไม่อยากออกไปในที่ชุมชน ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในส่วนหนึ่ง โดยข้อมูลล่าสุด กรุงเทพมหานครได้ประกาศงดการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์และขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนให้งดจัดงานด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ภาครัฐจึงออกมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและภาระค่าครองชีพของครัวเรือน เช่น มาตรการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% ในช่วง เม.ย.-ก.ย.63 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะมีส่วนช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือนให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาส 2/63 จะเผชิญความเสี่ยงมากที่สุดจากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน และปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อการทำเกษตรกรรมและการบริโภคอุปโภคในประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐออกมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 ก็น่าจะช่วยประคับประคองการครองชีพของครัวเรือนไทยได้ในระดับหนึ่ง

Back to top button