สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 มี.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 มี.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 3,000 จุดเมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) ทำสถิติทรุดตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2530 เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เข้าแทรกแซงตลาดอีกครั้งด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินและอัดฉีดเงินผ่านการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ตาม นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกร้องให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 10 คน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,188.52 จุด ทรุดตัวลง 2,997.10 จุด หรือ -12.93% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,386.13 จุด ร่วงลง 324.89 จุด หรือ -11.98% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,904.59 จุด ดิ่งลง 970.28 จุด หรือ -12.32%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดทรุดตัวลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วยุโรป โดยหุ้นกลุ่มสายการบินร่วงลงอย่างหนักหลังสหภาพยุโรป (EU) เสนอห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้า EU ขณะที่การออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ไม่ได้ช่วยคลายความวิตกให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวแต่อย่างใด
ดัชนี Stoxx Europe 600 ดิ่งลง 4.86% ปิดที่ 284.63 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 3,881.46 จุด ลดลง 236.89 จุด หรือ -5.75%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 8,742.25 จุด ลดลง 489.83 จุด หรือ -5.31% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,151.08 จุด ลดลง 215.03 จุด หรือ -4.01%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดดิ่งลงเมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 โดยหุ้นกลุ่มสายการบินฉุดตลาดลงหนักที่สุด หลังสายการบินหลายแห่งประกาศปรับลดเที่ยวบินลง และสหภาพยุโรป (EU) เสนอประกาศห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้า EU เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่การประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 นั้น ไม่ได้ช่วยคลายความวิตกให้กับนักลงทุนแต่อย่างใด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,151.08 จุด ร่วง 215.03 จุด หรือ -4.01%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 3.03 ดอลลาร์ หรือ 9.6% ปิดที่ 28.70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2559
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 3.80 ดอลลาร์ หรือ 11.2% ปิดที่ 30.05 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2559
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 30 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่เทขายทองคำเพื่อถือเงินสด หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนัก แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้ยาแรงด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินและอัดฉีดเงินผ่านการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ตาม
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 30.2 ดอลลาร์ หรือ 1.99% ปิดที่ 1486.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2562
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.684 ดอลลาร์ หรือ 11.61% ปิดที่ 12.816 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ดิ่งลง 86.2 ดอลลาร์ หรือ 11.59% ปิดที่ 657.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,514.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมประกาศซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.15 เยน จากระดับ 108.15 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9470 ฟรังก์ จากระดับ 0.9554 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3980 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3926 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1168 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1066 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2234 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2305 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6126 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6141 ดอลลาร์สหรัฐ