“ครม.” คลอด 6 มาตรการเข้มข้นคุม “โควิด-19” ยันยังไม่ชัตดาวน์เมือง-ประเทศ!

"ครม." คลอด 6 มาตรการเข้มข้นคุม “โควิด-19” ยันยังไม่ชัตดาวน์เมือง-ประเทศ!


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 มี.ค.63) ว่า รัฐบาลจะไม่มีการปิดเมือง ปิดประเทศ หรือห้ามการเข้า-ออกโดยสมบูรณ์ แต่จะใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่ว่ามีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.วันนี้เห็นชอบมาตรการ 6 ด้านเพื่อลดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้แก่

1.มาตรการด้านสาธารณสุข

1.1 ป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย คือ

– ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย (4 ประเทศ + 2 เขตปกครองพิเศษ) ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ ยินยอมใช้ Application ติดตามของรัฐ มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และใช้มาตรการกักกันของรัฐไว้สังเกตอาการ 14 วัน

– ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง (ยังไม่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย) ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ มีที่พำนักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย ยินยอมใช้ Application ติดตามของรัฐ มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ และใช้มาตรการกักกันของรัฐคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน

– ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

1.2 พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนัก ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

1.3 ให้มีการกำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้มีการใช้แอพพลิเคชั่น ติดตามตัว

1.4 จัดหาและเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะ 3 ได้แก่ สถานพยาบาล เตียง หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค

1.5 แนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น

2.มาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ

– เร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน เจลแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุม/ชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ

– นำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ส่งศูนย์ฯ เพื่อกระจายต่อไป

– สำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) หน้ากาก N95 ละอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น และประสานกับต่างประเทศในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ

– ตรวจสอบการขาย Online การกักตุน และการระบายของสินค้า

3.มาตรการด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่

– กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข

– ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

4.มาตรการด้านต่างประเทศ การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้กระทรวงการต่างประเทศ ใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ(Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีท่านทูตเป็นหัวหน้าทีม

5.มาตรการด้านมาตรการป้องกัน ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

5.1 ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น

(1) สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่าย แม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนนาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 63  เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

(2) สถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก สัมผัสถูกเนื้อถูกตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่าย

– ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

– ปิดชั่วคราว 14 วัน สำหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

(3) งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนาวัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย โดยเพิ่มมาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่/สถานที่ที่ยังต้องเปิด

5.2 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

5.3 ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค

5.4 ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประทศ ได้แก่ งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน 63 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชุดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

5.5 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ และเพิ่มความถี่ของการเดินรถ

5.6 งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกัน การแพร่ของโรค รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย

5.7 ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงานและการทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้านและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ฯ และ เพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

5.8 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาดและแจ้งมาตการที่จะดำเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทราบและให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน

5.9 ให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน โดยมีบุคคลจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

6.มาตรการช่วยเหลือเยียวยา

6.1 กลุ่มธุรกิจ โรงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.), กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)  กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการ lay off พนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ อก. เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน

6.2  กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้ กค. มหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีภาระในในการผ่อนชำระ เช่น รถจักรยานยนต์ ๆลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดๆในระยะที่ 2 ต่อไป

6.3 ให้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กด.) กระทรวงยุติธรรม พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก เป็นต้น

6.4  สร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจาการแพร่ระบาดของโรคที่เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิด นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในช่วงทางต่างๆต่อไป

Back to top button